xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผย ผู้บริโภคไทยเสี่ยงอันตรายจากเนื้อไก่ที่ถูกเลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดทำรายงาน The Pecking Order ปี 2020 เปิดเผยผลการดำเนินการพัฒนามาตราฐานสวัสดิภาพไก่จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลก ได้แก่ KFC, McDonald’s และ Burger King พบว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐานมาก

โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในรายงาน ‘The Pecking Order’ หรือ “การรายงานมาตรฐานสวัสดิภาพไก่” ภายใต้ปี 2020 ได้นำเสนอผลอันดับความโปร่งใสในการดำเนินงานธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด ว่ามีการสร้างสวัสดิภาพของไก่ในทั่วโลกเป็นอย่างไร ซึ่งผลสำรวจในรายงานพบว่ามีธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งมีการดูแลคุณภาพชีวิตไก่อยู่ในระดับต่ำจนเป็นที่น่ากังวล โดยผู้บริโภคไม่ได้รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงว่า “เนื้อไก่” ที่บริโภคนั้นมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร


จากรายงาน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) องค์กรไม่แสวงผลกำไรระหว่างประเทศ เผยว่า “เนื้อไก่ที่ได้ถูกนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคจากบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้น มีการเลี้ยงดูจากฟาร์มไก่ ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีชีวิตอยู่อย่างแออัด ไม่เคยได้สัมผัสกับแสงแดดจากธรรมชาติ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทรมานจากโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังและขาที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากสภาพพื้นที่แออัด ทำให้เกิดการเบียดเสียดแย่งที่อยู่ด้วยกันเอง และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยที่จะแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในการเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่มีคุณภาพอีกด้วย”

ในเวลาเดียวกัน เมื่อคุณภาพการเลี้ยงที่ด้อยมาตรฐานดังกล่าว ส่งผลให้ ผู้บริโภค ต้องตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง ที่จะได้นับสารตกค้างในเนื้อไก่ โดยผลสำรวจดังกล่าว พบด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารพิชซ่า และฟาสฟู้ด แบรนด์ดังหลายแห่ง ที่คนไทยรู้จักกันดี ได้ถูกประเมินให้ได้รับคะแนนต่ำสุด คือ 0 ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เลย


ทางด้าน เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการแคมเปญด้านสวัสดิภาพไก่ บอกด้วยว่า “ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ได้มีการเพาะพันธุ์ไก่สายพันธุ์ใหม่ที่ให้เนื้อหน้าอกในปริมาณมาก และเติบโตไว ทำให้ลดต้นทุน และทำกำไรได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน การเลี้ยงในสถานที่แออัด ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอให้ไก่ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระตามสัญชาติญาณ ส่งผลให้ไก่ เกิดความเครียด และเกิดโรคกับไก่ได้ง่าย ทำให้เกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม ต้องใช้ยาปฎิชีวะ รวมถึง สารเคมี มากขึ้น ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างอยู่ในตัวไก่ เมื่อผู้บริโภคนำไปบริโภค ก็อาจจะได้รับสารตกค้างเหล่านี้ไปด้วย”

“ปัจจุบันประเทศในยุโรป ได้มีความตระหนักในผลกระทบของผู้บริโภคแล้ว ทำให้ร้านอาหารฟาสฟู้ด และฟาร์มผู้เพาะเลี้ยงหลายแห่งในประเทศกลุ่มยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีการยอมรับสวัสดิภาพของไก่ ดีมากขึ้น และทำให้มีการสั่งซื้อเนื้อไก่ จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกให้การยอมรับ ขณะที่ ประเทศไทย ปัญหาเหล่านี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่ง ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงยังจะมุ่งเน้นการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ร้านฟาสฟู้ด โดยเฉพาะร้านแบรนด์ไก่ทอดชั้นนำ ในประเทศไทย ออกมาร่วมมีส่วนรับผิดชอบในการออกนโยบาย และเปิดเผยข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลว่า ไก่ที่กำลังบริโภคเหล่านี้ มีแหล่งที่มาอย่างไร อันจะนำมาสู่ความปลอดภัยทางด้านอาหารของผู้บริโภคต่อไป”


อย่างไรก็ดี ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย คาดหวังว่า ภายในปี 2020 นี้ แคมเปญสวัสดิภาพไก่ จะประสบความสำเร็จ และทำให้ผู้ประกอบการด้านร้านอาหาร รวมถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงไก่ หันมาตระหนักถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัย ต่อไป

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ : www.worldanimalprotection.org หรือ ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ https://www.worldanimalprotection.or.th/change-for-chickens และสามารถอ่านรายงานเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/pecking-order-2020




กำลังโหลดความคิดเห็น