xs
xsm
sm
md
lg

แห่เปิดร้านอาหารสู้ศึก 4 แสนล้าน ชี้เทรนด์รุ่ง-ปรับตัวอยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ส่องตลาดธุรกิจร้านอาหารในไทย โอกาสยังมีมากแต่อุปสรรคก็มีเยอะ เปิดข้อมูลจำนวน ประเภทร้านอาหารในไทย ชี้ช่องลงทุน แนวทางปรับตัว ยุคการแข่งขันที่รุนแรง ท่ามกลางกว่า 320,000 ร้านที่ต้องแย่งลูกค้ากัน

ธุรกิจร้านอาหารยังคงเป็นธุรกิจยอดฮิตของคนไทยที่ต้องการจะประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งไทยเองก็ขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารอยู่แล้ว แม้แต่คนต่างชาติยังหลงใหลในรสชาติอาหารไทยที่มีความหลากหลาย ขณะเดียวกัน ร้านอาหารต่างชาติในไทยก็มีการเติบโตพร้อมกันไปด้วย สร้างความหลากหลายให้กับตลาดร้านอาหารในไทย จึงทำให้ตลาดร้านอาหารในไทยเติบโตคู่กันไปทั้งอาหารไทย และอาหารต่างชาติ

นายยอด ชินสุภัคกุล กล่าวว่า “การทำร้านอาหารเป็นความฝันของหลายคน นับตั้งแต่ก่อตั้ง Wongnai ขึ้นมาจนตอนนี้ครบ 10 ปีแล้ว เรามีข้อมูลด้านอาหารในทุกมิติมากที่สุดในไทย ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย”


แม้ว่าการเปิดร้านอาหารถือเป็นเทรนด์ลำดับต้นๆ ที่เป็นธุรกิจส่วนตัวที่น่าลงทุนมากที่สุด ด้วยมูลค่าการตลาดรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีมากถึง 400,000 ล้านบาท


ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารในฐานข้อมูลของ Wongnai พบว่ามีจำนวนเติบโตขึ้น 40% ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562 (ปี ค.ศ. 2018-2019) แต่ขณะเดียวกัน สถิติย้อนหลังช่วง 3 ปีที่ผ่านมากลับมีเพียงแค่ 10% ของร้านที่เปิดใหม่สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และก็ยังมีการเปิด-ปิดร้านอาหารหลายร้อยร้านในทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง

ในปี 2562 จำนวนร้านอาหารที่เปิดใหม่ทั่วประเทศพุ่งเป็น 70,149 ร้าน โตขึ้นจากจำนวนร้านเปิดใหม่ในปี 2561 ถึง 97% แล้วยิ่งในยุคนี้ที่กระแส O2O (Online to Offline) กำลังส่งสัญญาณแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของดีลิเวอรี และการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ส่งผลต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ รายใหญ่รายเล็ก มีแบรนด์ที่เป็นเชนและไม่เป็นเชนทั้งสิ้น


เพราะอย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารก็ไม่มีวันตายแน่นอน เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวด้วยกลยุทธ์ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท


ปัจจุบัน วงใน (WONG NAI) เองมีฐานข้อมูลที่รวบรวมไว้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีฐานข้อมูลร้านอาหารมากกว่า 320,000 ร้านอาหาร

ในปี 2559 มีจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ทั่วประเทศประมาณ 25,000 กว่าร้านค้า พอมาปี 2560 มีร้านใหม่เปิดเป็น 28,000 กว่าร้าน หรือเพิ่มขึ้น 11.5% และในปี 2561 มีเปิดกว่า 35,000 ร้าน เพิ่มขึ้น 25% และล่าสุดปีที่แล้วปี 2562 เปิดมากถึง 70,000 ร้าน เพิ่มมากกว่า 96% นับเป็นการเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า

ในภาพรวมประเทศไทยที่วงในมีข้อมูลอยู่ระบุว่า จากจำนวน 320,000 ร้านค้านั้น เป็นร้านอาหารไทยมากที่สุดถึง 44,000 ร้าน ซึ่งจะมีผสมผสานกันทั้งร้านที่มีแบรนด์แบบที่เป็นร้านในอาคารกับร้านสตรีทฟูดทั่วไป รองลงมาคือร้านอาหารแบบก๋วยเตี๋ยว 32,000 ร้าน และอันดับ 3 คือร้านกาแฟ 30,000 กว่าร้าน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีการเปิดร้านอาหารมากที่สุด แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นกรุงเทพฯ เมืองหลวงเมืองฟ้าอมร พบว่าในปี 2562 มีร้านอาหารเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ มากถึง 18,000 ร้าน ในนนทบุรี 3,600 ร้าน, ในสมุทรปราการ 2,300 ร้าน, ปทุมธานี 1,800 ร้าน, ชลบุรี 1,600 ร้าน, สมุทรสาคร 700 ร้าน, กาญจนบุรี 650 ร้าน, เชียงใหม่ 600 ร้าน, ระยอง 500 ร้าน และนครปฐม 450 ร้าน

ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองรอบกรุงเทพฯ เป็นหลักที่เปิดร้านอาหารมาก


สำหรับ 5 เขตในกรุงเทพฯ ที่มีร้านอาหารมากที่สุด คือ 1. เขตจตุจักร 1,400 ร้าน, 2. เขตปทุมวัน 1,200 ร้าน, 3. เขตวัฒนา 1,100 ร้าน, 4. เขตบางกะปิ 1,000 ร้าน และ 5. เขตประเวศ 950 ร้าน ขณะที่ 5 เขตที่มีจำนวนร้านอาหารน้อยที่สุดคือ 1. เขตทุ่งมหาเมฆ 50 ร้าน, 2. เขตวงศ์สว่าง 100 ร้าน, 3. เขตหนองจอก 150 ร้าน, 4. เขตสัมพันธวงศ์ 200 ร้าน และ 5. เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 220 ร้าน

ประเภทของร้านอาหารที่เปิดมากที่สุดปี 2562 คือ 1. ร้านกาแฟและคาเฟ่, 2. อาหารไทยอาหารตามสั่งทั่วไป, 3. ก๋วยเตี๋ยว, 4. อาหารอีสาน, 5. สตรีทฟูด, 6. ชานมไข่มุก, 7. ซีฟูด, 8. อาหารญี่ปุ่น, 9. อาหารจานด่วน และ 10. สเต๊ก


ทั้งนี้ ร้านกาแฟ ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจดาวดวงเด่นมาตลอด มีการเปิดมากมาย ทั้งเชนต่างประเทศที่เข้ามาขยายสาขา และเชนไทยที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ก็เป็นการขยายตัวในเชิงกว้าง คือมีแต่แบรนด์และจำนวนสาขาที่มากขึ้น เมื่อความต้องการในตลาดสูงขึ้น ทำให้คนแห่กันเปิดร้าน ลูกค้าจึงมีตัวเลือกมากขึ้น แฟรนไชส์มีเปิดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดร้านกาแฟเริ่มลงตัวและไม่หวือหวามากนัก แต่ในทางกลับกัน การขยายตัวเริ่มเป็นในเชิงลึกมากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและตัวผู้บริโภคเอง เริ่มเจาะลึกลงไปในรายละเอียด เช่น เมล็ดพันธุ์กาแฟที่นำมาใช้ วิธีการชง การดริปกาแฟ บรรยากาศร้าน กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเลือกมากขึ้น



ขณะที่อาหารไทยตามสั่งนั้น ด้วยความที่เป็นอาหารที่คนไทยคุ้นเคยและตอบโจทย์เรื่องเมนูที่หลากหลายและหารับประทานได้ง่าย ซึ่งพบว่ามีร้านอาหารไทยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นในปี 2561-2562 กว่า 7,000 ร้าน เป็น 16,000 ร้าน เพิ่มถึง 44%


ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ยังเติบโตดี ทุกวันนี้แม้จะมีมากและเป็นร้านที่มีมานานแล้วก็ตาม แต่ข้อมูลจของวงในพบว่าก๋วยเตี๋ยวยังเป็นธุรกิจร้านอาหารประเภทที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2561 มีประมาณ 3,000 กว่าร้าน เพิ่มเป็นกว่า 5,000 ร้านปีที่แล้ว เพิ่มถึง 60% เลยทีเดียว ซึ่งหากมองเฉพาะที่กรุงเทพฯ อย่างเดียวเท่านั้น เพียงแค่ 1,000 กว่าร้านในปี 2561 เพิ่มเป็น 2,500 ร้านในปี 2562 เพิ่มถึง 110% โดยข้อมูของวงในระบุว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็นร้านอาหารที่ถูกรีวิวมากเป็นอันดับที่ 2 ของบรรดาร้านในกรุงเทพฯ และสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของบรรดาร้านในเชียงใหม่จากผู้ใช้งานบนแอปฯ ของ Wongnai

นายยอดวิเคราะห์ด้วยว่า ในยุคของ O2O หรือออนไลน์ทูออฟไลน์ ธุรกิจร้านอาหารเป็นหมู่ที่มีการเติบโตสูงที่สุด สื่อให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และจากแนวโน้มที่หลายคนมีร้านอาหารเป็นตัวเลือกแรกในใจเมื่อคิดที่จะลงทุนทำธุรกิจ ดังนั้น การสร้างความได้เปรียบในแง่มุมต่างๆ ในยุคที่การแข่งขันรุนแรงนี้เองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของรสชาติ วิธีการนำเสนอ บรรยากาศของร้าน ทำเลที่ตั้ง การบริการ ที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ดี



สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงรอยต่อปี 2561-2562 และจากนี้ คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมสร้างความแตกต่างและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับร้านอาหารของตัวเอง การเปิดบริการดีลิเวอรีทำให้ไม่ต้องลงทุนขยายสาขามากซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ปัญหาเรื่องร้านไม่มีที่จอดรถโดยเฉพาะร้านค้าดังๆ อร่อยๆ ที่อยู่ในเขตเมืองตามท้องถนน จะทำให้ยังสามารถบริการลูกค้าได้ หรือการทำความรู้จักลูกค้าผ่านระบบซีอาร์เอ็ม สร้างฐานข้อมูลลูกค้าของร้าน จนทำให้เรารู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เข้าใจความต้องการทั้งพฤติกรรม ความชอบ เมนู ความถี่และช่วงเวลาที่ชอบมารับประทานของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถนำมาวางแผนการทำตลาด การพัฒนาเมนูอาหาร รสชาติ การบริการ หรือสิ่งอื่นๆ ได้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น และขยายฐานลูกค้าได้ด้วย


ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของวงในระบุด้วยว่า กลุ่มลูกค้านักกินของวงในจะเป็นวัยรุ่นและวัยกลางคน อายุ 25-34 ปีมากที่สุด 44% มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป 89% และอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและหัวเมืองใหญ่มากถึง 90% โดยจะเป็นเพศหญิงเป็นผู้ใช้บริการรับประทานอาหารนอกบ้านมากถึง 64% และใช้บริการผ่านทางมือถือ 60% เป็นระบบไอโอเอส 86% โดยมีผู้ใช้บริการ 10 ล้านคนต่อเดือน มีจำนวนกว่า 13 ล้านรูปและรีวิว มีจำนวนที่ค้นหาร้านอาหารจากกูเกิลและมาจบที่วงในในปีที่แล้ว (2562) มากถึง 200 ล้านครั้ง


“การใช้ข้อมูลเพื่อเป็นการตัดสินใจในการทำธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้นทุกวัน ควรมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ไช่แค่เรื่องที่บริษัทใหญ่ๆ ทำอีกต่อไป ร้านอาหารไม่ว่าจะขนาดใดก็ตามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลนี้ได้ไม่ยาก และต้นทุนก็ไม่ได้สูงจนเกินไปนัก” นายยอดกล่าว


ดังนั้น ใครจะทำธุรกิจร้านอาหาร ก็ยังคงมีโอกาสเปิดกว้างให้เข้ามาในสนามนี้ แต่ขณะเดียวกัน ความยากลำบากก็มีมากขึ้นเช่นกัน หากใครไม่พร้อมและไม่แข็งแกร่งจริงก็อยู่รอดยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น