อายุรแพทย์เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ รพ.ธรรมศาสตร์ จับตา ‘โคโรนา’ ขยายวงช่วง ‘ตรุษจีน’ เหตุคนเดินทางไป-มามาก ระบุเชื่อมั่นระบบเฝ้าระวังประเทศไทย เพราะเคยผ่านประสบการณ์ ‘ซาร์ส-เมอร์ส-อีโบลา’ มาแล้ว แนะจังหวัดที่มีเที่ยวบินจากพื้นที่เสี่ยงเข้มคัดกรอง วางระบบขนส่ง เตรียมพร้อมโรงพยาบาล
รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า ไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศจีนเป็นสายพันธุ์ใหม่ ความน่ากลัวอยู่ที่เรายังไม่รู้จักดีพอ จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะติดกันยากง่ายเพียงใด หรือมีความสามารถในการแพร่ระบาดมากเพียงใด แต่หากพิจารณาจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) และเมอร์สโควี (MERS-CoV) ในอดีต ซึ่งเป็นไวรัสโคโรนาทั้งสิ้น ตรงนี้สะท้อนว่าเชื้อไวรัสนี้มีความสามารถในการแพร่กระจาย
“ผู้ป่วยที่แท้จริงอาจจะมีมากกว่า 400-500 ราย ซึ่งขณะนี้จีนก็ได้ปิดเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดโรคแล้ว เราจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะการเดินทางไปมามากขึ้น ตรงนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อได้อีก” รศ.นพ.ธนากล่าว และว่า อย่างไรก็ดี ส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการรับมือกับโรคระบาดเป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาเคยมีทั้งประสบการณ์และความสำเร็จจากการตั้งรับโรคซาร์ส โรคเมอร์ส รวมถึงอีโบลามาแล้ว ซึ่งในกรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ตัวบ่งชี้ที่สำคัญก็คือเรายังไม่มีคนในท้องถิ่นหรือในประเทศติดเชื้อ เว้นแต่ผู้มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ตรงนี้ยังทำให้พอเบาใจได้อยู่ว่า มาตรการคัดกรองและแยกผู้ป่วยในประเทศนั้นยังใช้การได้ เพราะขณะนี้เรายังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเอง นอกจากผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งทั้งหมดก็ถูกค้นหาอยู่ในความดูแลของแพทย์แล้ว
รศ.นพ.ธนากล่าวว่า เชื้อไวรัสสามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานโดยไม่ตกสู่พื้น คล้ายกับลักษณะการแพร่ของวัณโรค หรือโรคหัด ฉะนั้นในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือการเกิดการแพร่กระจายแบบละอองฝอย ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง แต่หากไวรัสมีการกระจายที่ไม่ไกล รัศมีไม่เกิน 1 เมตร ในลักษณะเดียวกับไข้หวัดทั่วไป โอกาสติดต่อก็จะยากกว่า สำหรับการดูแลป้องกันตนเอง ควรติดตามข่าวสารและสถานการณ์ของโรค ผ่านประกาศหรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด และการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการป่วย เช่น เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปจนพบแหล่งติดเชื้อในประเทศ การป้องกันระดับสูงสุดที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือการใส่หน้ากากอนามัย N95 รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ทั้งการล้างมือ การกินอาหารสะอาด
"ในส่วนของมาตรการตั้งรับในพื้นที่ สถานพยาบาลควรมีการให้ความรู้ คำแนะนำ รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มคนที่มีประวัติการเดินทาง หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทาง หากเจ็บป่วยให้มีการพบแพทย์โดยทันที ส่วนในระดับจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเที่ยวบินจากเมืองต้นทางการแพร่ระบาด จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมด้านมาตรการและสถานพยาบาลรองรับ จัดทำแผนและระบบขนส่ง เมื่อตรวจเจอสามารถคัดแยกผู้ป่วยออกมาได้ทันที ขณะที่จังหวัดอื่นๆ อาจเฝ้าดูสถานการณ์ว่ามีการติดเชื้อในประเทศเองหรือไม่” รศ.นพ.ธนากล่าว