สธ.แถลงยืนยันพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 4 ราย รักษาหายส่งกลับจีนแล้ว 2 ราย ที่เหลือเป็นอาการดีขึ้น รอผลตรวจแล็บหากปลอดเชื้อก็กลับบ้านได้ สั่งทุกจังหวัดเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินรองรับ หลังเริ่มพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคในต่างจังหวัด WHO คาดไทยจะเจอผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้น แต่ชื่นชม ไทยรับมือได้ดี พร้อมประสานไทยช่วยแชร์ข้อมูล
วันนี้ (22 ม.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกรณีการติดตามสถานการณ์โรคปอดอักเสบติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสอู่ฮั่น จำนวน 4 ราย ซึ่งมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือ อู่ฮั่น โดยเป็นคนจีนมาเที่ยวประเทศไทย 3 ราย ซึ่งตรวจคัดกรองเจอที่สนามบินสุวรรณภูมิ และแยกตัวมารักษาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร อาการดีขึ้นเป็นลำดับ โดยขณะนี้ผู้ป่วย 2 รายแรกได้รับการตรวจยืนยันว่าปลอดเชื้อและหายแล้ว จึงดำเนินการอำนวยความสะดวกส่งกลับประเทศจีน เมื่อ 2 วันก่อน เหลืออีก 1 ราย อาการดีขึ้น กำลังรอผลห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ หากยืนยันตรงกันว่าปลอดเชื้อก็จะส่งกลับบ้านต่อไปเช่นกัน ส่วนอีก 1 รายเป็นคนไทย ที่ไปเที่ยวอู่ฮั่น ประเทศจีน กลับมาแล้วแสดงอาการและตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าว อาการก็ดีขึ้น แพทย์ที่ รพ.นครปฐม ก็ยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็น ควบคุมได้ ไม่ต้องส่งตัวมาที่สถาบันบำราศนราดูร ใกล้จะหายแล้วและต้องรอผลแล็บว่าปลอดเชื้อ ก่อนให้กลับบ้าน สำหรับรายที่เชียงใหม่ผลตรวจแล็บชัดเจนว่าไม่ใช่เชื้อไวรัสอู่ฮั่น
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิด ทั้งผู้ร่วมเดินทาง ญาติพี่น้อง แพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาแล้วมีการตรวจทุกคน ก็ยังไม่พบว่า มีการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวและไม่แสดงอาการใดๆ ว่ามีการติดเชื้อจากเชื้อนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่เรายังควบคุมได้อยู่ เราดำเนินการตามมาตรฐานสากลทุกอย่าง เพราะเรามีประสบการณ์ในการรับมือการระบาดของโรคต่างๆ มาหลายครั้งแล้ว ขอให้ความมั่นใจกับประชาชน การดำรงชีวิตยังทำได้ตามปกติ ส่วนระบบในการดูแลก็พยายามทำอย่างนิ่มนวล ไม่ให้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือเกิดความตระหนกต่อประชาชนทั่วประเทศ ยังคงเป็นโรคหนึ่งโรคที่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือ การเรียนรู้และปรับตัวเองให้รับมือกับสถานการณ์ให้ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอด ซึ่งทาง WHO ก็ชื่นชมระบบการทำงานของไทยว่าเป็นแบบอย่างที่ดี และขอให้ไทยแชร์ข้อมูลและตัวอย่างเชื้อ เพื่อให้ประเทศอื่นเตรียมรับมือด้วย ซึ่งตนรายงานนายกรัฐมนตรีแล้วก็สั่งการให้เราให้ข้อเท็จจริงต่อประชาชนและประชาคมนานาชาติ ซึ่งไทยก็พร้อมแชร์ข้อมูลกับ WHO และหน่วยงานสาธารณสุขต่างประเทศหากมีการร้องขอ โดยช่วง 18.00 น. วันที่ 22 ม.ค. WHO จะประชุมร่วมกับ สธ.และหน่วยงานสาธารณสุขประเทศต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีการพบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่ต่างจังหวัด ข้อสั่งการตอนนี้ คือ 1.ให้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั้งในระดับกรม กระทรวง เขตสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากร ทรัพยากร ยา และเวชภัณฑ์ และช่องทางการประสานงานการเฝ้าระวังและรายงานข้อมูล 2.การเฝ้าระวัง ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณุข ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งการสอบสวนโรค การคัดกรองโรค การตรวจทางแล็บ 3.จังหวัดที่มีสนามบินและท่องเที่ยว ให้บูรณาการและประสานงานอย่างใกล้ชิด และ 4.จัดระบบเฝ้าระวังให้มีการรายงานข้อมูล 24 ชั่วโมง หรือรายงานทันทีที่พบผู้ป่วย และหากมีความจำเป็นต้องให้ข่าวขอให้ปรึกษามายังส่วนกลางเพื่อให้ข้อมูลไปในทางเดียวกัน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. มีจำนวน 38 รายเหลือรักษาตัวใน รพ. 10 ราย โดยยืนยันว่าป่วยด้วยเชื้อนี้ 4 ราย ได้แก่ หญิงจีนอายุ 61 ปี หญิงจีนอายุ 74 ปี ซึ่งสองรายนี้หายและกลับประเทศแล้ว รายที่สามเป็นหญิงไทยอายุ 73 ปี ที่ รพ.นครปฐม และรายที่สี่ เป็นชายจีนอายุ 68 ปี ส่วนที่เหลือไม่เข้าข่ายเชื้อไวรัสนี้ แต่จากนี้ก็จะมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เข้ามาเรื่อยๆ
ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยลงทุนในบุคลากร การดูแลคนไข้ แม้ว่าจะเสียค่าดูแลรักษา แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และจากสถานการณ์แบบนี้คือ สธ.ไทยยังมีการค้นหา ควบคุม และยังมีการเดินทางไปมาเช่นนี้ ก็คาดได้เลยว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก มีผู้ป่วยอุบัติเกิดขึ้นแน่นอน แต่องค์การอนามัยโลกมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถคัดกรองมารักษาได้ทุกราย นี่คือสิ่งที่ WHO เชื่อมั่น