กรมอนามัย ขอตรุษจีนลดเผากระดาษเงินกระดาษทอง หันใช้ธูปขนาดเล็ก ดับหรือเก็บธูปให้ไวขึ้น ลดปริมาณเกิดมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ห่วง 97% เคยได้รับผลกระทบสุขภาพจากการไหว้ แนะสวมหน้ากากอนามัยขณะจุด
วันนี้ (17 ม.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ในช่วงนี้ ว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีน จะมีการจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง และเผาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ ซึ่งการจุดธูปและการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในแต่ละครั้งจะปล่อยสารมลพิษออกมาคือ ควันและขี้เถ้า ซึ่งสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนหรือสารพีเอเอช และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น เบนซิน (Benzene) และ 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-butadiene) ส่วนขี้เถ้า จะมีสารโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส และพบโลหะหนักเหล่านี้อยู่ในขี้เถ้ามากกว่าฝุ่นละอองในอากาศประมาณ 3-60 เท่า ซึ่งหากได้สัมผัส อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากการสำรวจอนามัยโพลเรื่องพฤติกรรมการใช้ธูป กระดาษเงินกระดาษทอง กับเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนมกราคม 2562 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,657 คน พบว่า ในวันไหว้ตรุษจีน ประชาชนมีการจุดธูปร้อยละ 79 เผากระดาษเงินกระดาษทองร้อยละ 51 และเผาสิ่งประดิษฐ์จากกระดาษต่างๆ เช่น โทรศัพท์ บ้าน รถ ร้อยละ 19 และพบว่าประชาชนบางส่วนยังมีพฤติกรรมการใช้ธูปและเผาที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ธูปขนาดสั้นเพียงร้อยละ 33 มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทองถึงร้อยละ 98 โดยส่วนใหญ่เป็นการเผาจนหมดแล้วดับ ในส่วนของสุขภาพ ประชาชนเห็นด้วยว่าควันธูปและมลพิษจากการเผากระดาษเงินกระดาษทองมีอันตรายต่อสุขภาพถึงร้อยละ 87 เมื่อสอบถามถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และพบว่าประชาชนมีอาการถึงร้อยละ 97 โดยเฉพาะอาการแสบตา แสบจมูก คัดจมูก หายใจลำบาก คันตา และปวดตา และยังไม่ได้มีการป้องกันถึงร้อยละ 54
“ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ อาจจะตรงกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ การจุดธูป รวมทั้งการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในปริมาณที่มากอาจจะทำให้เกิดควันที่มีสารก่อมลพิษต่าง ๆ มากมาย ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับสารนั้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป การป้องกันที่ดีคือลดปริมาณการใช้ โดยใช้ธูปขนาดสั้น ลดปริมาณการ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ให้น้อยลง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะจุดธูปหรือเผา เมื่อจุดแล้วดับหรือเก็บธูป ให้เร็วขึ้น ควรจุดนอกบ้านหรือที่อากาศถ่ายเท และยืนอยู่เหนือทิศทางลม ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสธูปและกระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับบริเวณที่มีการจุดธูป เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้างได้ รวมทั้งกำจัดขี้เถ้าจากธูปและกระดาษเงิน กระดาษทอง โดยเก็บขี้เถ้า ใส่ถุง และส่งให้ท้องถิ่นรับไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว