สคอ.วิเคราะห์ 4 สาเหตุหลักทำ กทม.มียอดตาย 7 วันอันตรายสุงสุดในประเทศ เหตุคนออกต่างจังหวัดน้อย ส่งเสริมการขายน้ำเมา พบปรากฏการณ์ไปเที่ยวแต่ทิ้งผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว ต้องขับรถออกไปหากินเองจนเกิดอุบัติเหตุ และการขับรถเร็วจากถนนโล่ง พ่วงเจออุบัติเหตุหมู่ ทำตัวเลขกระฉูด ศปถ.กทม.เร่งขับเคลื่อนระดับเขต วิเคราะห์ทางเสี่ยง
วันนี้ (10 ม.ค.) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวถึงกรณีช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2563 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสะสมสูงสุดจำนวน 15 ราย ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยมีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดมาก่อนในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์ ว่า จริงๆ ช่วงเทศกาล กทม.และปริมณฑลก็มีอุบัติเหตุทางถนนสูงอยู่แล้ว แต่ที่ตัวเลขพุ่งกระฉูดอาจเพราะมีอุบัติเหตุหมู่เกิดขึ้น ที่ครูพานักเรียนออกไปเล่นกีฬานั่งท้ายกระบะ ซึ่งจาก 14 คน เสียชีวิตไป 2 ราย อย่างไรก็ตาม หากจะให้วิเคราะห์สาเหตุ จากการเอาตัวเลขหลายๆ ตัวมาขมวดและตัวเลขจากการเดินทางมาพิจารณา ตนมองว่า 1.จากรายงานกระทรวงคมนาคมบว่า คนออกนอก กทม.ไปต่างจังหวัดลดลงจากปีที่ผ่านมา แปลว่ามีคนตกค้างอยู่ใน กทม.มากพอสมควร ก็ตั้งวงฉลอง พอออกมาก็เกิดอุบัติเหตุ
2.การส่งเสริมการขายและการจัดเคานต์ดาวน์ปีใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็เน้นส่งเสริมการขายหาเงินเข้าประเทศ เป็นโอกาสของบริษัทเหล้าเบียร์ ทำให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุตามมา 3.ระยะเวลาที่หยุดยาว พบว่าปรากฏการณ์หนึ่ง คือ คนไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วทิ้งผู้สูงอายุไว้อยู่บ้าน และช่วงเทศกาลก็หาของรับประทานยาก ปรากฏว่าผู้สูงอายุมีการนำรถยนต์ออกมาขับเอง ซึ่งปกติไม่ค่อยได้ขับหรือไม่ได้ขับนานแล้ว เพราะมีลูกหลานขับรับส่ง และเกิดอุบัติเหตุขึ้น และ 4.จากการที่ถนนโล่ง คนขับรถก็ขับเร็ว ทำให้คนข้ามถนนกับคนเดินเท้าเกิดอุบัติเหตุเยอะ กลายเป็นว่า กทม.ในช่วงเทศกาลเป็นพื้นที่เสี่ยง
นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ระหว่าง 7 วันอันตราย ก็ได้รับรายงานจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจาก 7 วันอันตราย ศปถ.กทม.ก็จะมีการประชุมสรุปและวิเคราะห์ความเสี่ยงพื้นที่ กทม.และปริมณฑลทั้งหมด ซึ่งในพื้นที่ กทม.ยังอยู่ในช่วงการขยับของ ศปถ.ระดับเขต ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการประชุมกัน ก็จะใช้โอกาสนี้ในการประชุมหารือระดับเขต ว่าเครื่องมือที่จะวิเคราะห์ความเสี่ยง ทั้งคนเสี่ยง รถเสี่ยง จะทำอย่างไร เพราะ กทม.ถือว่าเป็น ศปถ.น้องใหม่ เพิ่งเริ่มดำเนินการได้ประมาณ 2 ปี และยังต้องรองบประมาณบางส่วนในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเสี่ยง ซึ่งยอมรับว่า กทม.ความเสี่ยงมีมาก ทั้งจากถนนและคนที่หนาแน่น ทำให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เท่าที่หารือกับทางผู้อำนวยการเขตต่างๆ และประธาน ศปถ.กทม.ก็พบว่ามีความตั้งใจในการดำเนินงาน แต่ด้วยโครงสร้าง กทม.มีขนาดใหญ่ก็ต้องให้เวลา แต่คิดว่าหากขับเคลื่อนงาน ศปถ.ระดับเขตของ กทม.ได้ สถานการณ์ต่างๆ น่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์นี้