อุบลราชธานี - เมาแล้วขับ 7 วันอันตราย จังหวัดอุบลราชธานีพุ่งปรี๊ด ครองแชมป์อันดับ 1 ของประเทศ กว่า 707 คดี ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงานที่มาพบปะเยี่ยมเพื่อนฝูง ครอบครัว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับเมาแล้วขับช่วงวันปกติ
จากการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 กรมคุมประพฤติรายงานยอดผู้กระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราที่ถูกตัดสินคุมประพฤติทั่วประเทศทะลุ 12,000 คดี เพิ่มจากปี 2562 จำนวน 3,300 คดี โดยจังหวัดอุบลราชธานีมียอดถูกจับดำเนินคดีสูงสุดของประเทศคือ 707 คดี รองลงมาเป็นจังหวัดขอนแก่น 643 คดี และจังหวัดมหาสารคาม 615 คดี
ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีมีสถิติสะสมของคดีช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2562 มีจำนวน 8,706 คดี ส่วนปี 2563 มีจำนวน 11,997 คดี เพิ่มขึ้น 3,291 คดี คิดเป็นร้อยละ 37.80 มีผู้กระทำความผิดซ้ำจำนวน 277 คดี
นายสุทิน ไชยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สาเหตุที่สถิติคดีพุ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจำนวน 707 รายเกิดจากรัฐบาลและจังหวัดมีมาตรการป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย จึงได้ตั้งด่านทุกจุด เมื่อมีการตั้งด่านมากขึ้นก็มีการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น จึงทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีสถิติปริมาณคดีมากขึ้นตามมา
ประกอบกับพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่กว้าง มีประชากรกว่า 1 ล้าน 8 แสนคน ถ้าเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นแล้วจะเห็นจำนวนด่านกับจำนวนประชากรที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้มีการทำผิดจนปริมาณคดีเพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ
ส่วนสาเหตุว่ามีการดื่มสุรามากขึ้นหรือไม่นั้น ไม่สามารถชี้ชัดในเชิงข้อมูลได้ แต่ว่าโดยปกติแล้วในช่วงของเทศกาลปีใหม่ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยและชาวอีสานมักจะมีการพบปะสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตรและเพื่อน และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากนั้นมีการเดินทาง เมื่อเดินทางก็จะไปพบด่านต่างๆ ทั้งด่านตามจุดตรวจหลัก ด่านชุมชน จึงทำให้ยอดสถิติของคดีสูงกว่าปกติ
ส่วนสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อศาลได้สั่งลงโทษจำคุก หรือปรับ 7,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำนักงานจะมีหน้าที่ดูแลแก้ไขฟื้นฟู โดยจะเข้าไปอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมายจราจร เรื่องอัตราโทษการเมาแล้วขับ โดยเฉพาะมีเครือข่ายชมรมเหยื่อเมาแล้วขับของจังหวัดอุบลราชธานีจะมาสะท้อนความรู้สึกให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติว่าการเกิดอุบัติเหตุจากเมาแล้วขับจะมีผลต่อครอบครัวของเขาอย่างไร จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคุมประพฤติต้องสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว
สำหรับสถิติผู้ที่ถูกจับในเทศกาล 7 วันอันตราย พบว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยทำงานที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดเพื่อพบปะเยี่ยมญาติพบกับเพื่อนฝูง ซึ่งต่างกับกลุ่มที่ถูกจับในช่วงของวันปกติที่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่กลับมาจากเที่ยวสถานบันเทิงเป็นส่วนใหญ่