สธ.แจง "ไทรอยด์เป็นพิษระบาด" ทำผู้ต้องขังพิษณุโลกดับ 4 ป่วยอีก 20 กว่าราย ไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน แต่ใช้คำว่าระบาดเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก แม้ไม่ใช่โรคติดต่อก็ตาม คาดเกิดจากการกินอาหารมีเครื่องในสัตว์มากเกินไป ทำให้ฮอน์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงขึ้นจนเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว โพแทสเซียมต่ำ อ่อนแรงจนเสียชีวิต
จากกรณีผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งกรมราชทัณฑ์แถลงว่ามาจากการโรคไทรอยด์เป็นพิษระบาด ทำให้คนเกิดความสงสัยว่า โรคไทรอยด์เป็นพิษระบาดได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่โรคติดต่อ
วันนี้ (6 ม.ค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า โรคไทรอยด์ไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นเรื่องของฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูง ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1.อาจจะเป็นโรคเดิมของตัวผู้ป่วยเอง และ 2.รับฮอร์โมนมาจากภายนอก เช่น การกินอวัยวะภายในสัตว์บางประเภท โดยเฉพาะบริเวณคอจะมีต่อมไทรอยด์ ซึ่งตค่อนข้างทนต่อความร้อน ดังนั้น การรับประทานมากๆ จะทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงขึ้นและเกิดอาการ ที่สำคัญคืออาการทางหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และเกิดความไม่สมดุลของเกลือแร่ โดยทำให้โพแทสเซียมต่ำ ซึ่งรายที่เสียชีวิตมีอาการอ่อนแรง โพแทสเซียมต่ำ ซึ่งนำไปสู่หัวใจล้มเหลวได้ ละขณะนี้ยังมีผู้ต้องขังอีก 20 กว่าราย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก คิดว่าน่าจะดูแลได้ ส่วนกรมราชทัณฑ์จะต้องปรับแก้ในเรื่องของอาหารต่อไป
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรณีผู้ต้องขังเสียชีวิตเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีรายงานและสอบสวนเหตุการณ์อยู่เสมอ ซึ่งปีที่แล้วก็มีเสียชีวิตในเรือนจำแถบภาคอีสาน โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นเพราะผีแม่ม่ายหรือถูกปอบกิน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ แต่ปัญหาเป็นเพราะเกิดอาการอ่อนแรง และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนกรณีล่าสุดนี้ ตนไม่ได้หมายความว่าการปรุงอาหารในเรือนจำไม่ปลอดภัย ไม่ถูกโภชนาการ แต่อาจเป็นไปได้ว่าการปรุงอาหารปริมาณมาก อาจมีการปะปนเครื่องในสัตว์ลงไปด้วย และเป็นธรรมดา หากบริโภคสิ่งใดซ้ำๆ ในปริมาณมากย่อมไม่เกิดผลดี ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ออกหนังสือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ส่วนกรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยา สำนักควบคุมและป้องกันโรค (สคร.) ที่ 2 จังหวัดพิษณุโลกได้เข้าไปคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างอาหารมาตรวจ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งดูแลสำนักอาหารอยู่ ประสานไปยังกรมอนามัย ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ถือกฎหมายดูแลเรื่องของเครื่องในสัตว์ต่างๆ ให้เข้ามาดูแลด้วย เพื่อให้เป็นไปตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ที่จะต้องมีการดูแลคุณภาพชีวิต ดูแลคุณภาพชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจของผู้ต้องขังด้วย อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงด้วยว่า คำว่าระบาดนั้นไม่ได้หมายความว่า มีเพียงโรคติดต่อเท่านั้นที่จะเกิดการระบาดได้ แต่โรคไม่ติดต่อก็สามารถที่จะใช้คำว่าระบาดได้ ซึ่งเราจะใช้เมื่อมีการพบจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเป็นกลุ่มก้อน และขอย้ำว่าโรคไทรอยด์ไม่ใช่โรคระบาดที่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ที่กรมราชทัณฑ์แถลงว่าระบาด น่าจะเพราะมีการพบคนป่วยจำนวนมาก