พิษณุโลก - สสจ.คัดกรองผู้ต้องขังเรือนจำพิษณุโลกครบกว่า 3,000 คน พบป่วยภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง-โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ส่งแอดมิตโรงพยาบาลทันที 24 ราย ต้องเฝ้าระวังรักษาทางยา 690 ราย เตรียมเจาะเลือดทั้งหมด 7 ม.ค.นี้
วันนี้ (5 ม.ค.) นายชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อสรุปสถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกเสียชีวิตจำนวน 5 ราย ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
นายแพทย์ ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า เหตุการณ์ผู้ต้องขังเสียชีวิตไล่เลี่ยกันดังกล่าวเริ่มเกิดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 62 จำนวน 1 ราย วันที่ 30 ธ.ค. จำนวน 2 ราย และมีผู้ต้องขังทยอยป่วยต่อเนื่อง และมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ในวันที่ 4 ม.ค. 63
หลังจากเกิดเหตุทาง สสจ.ได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปในเรือนจำพร้อมกับทีมสอบสวนโรค รวมทั้งได้ระดมสาธารณสุขจาก 9 อำเภอนำเครื่องมือเข้าตรวจชีพจรผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า 3,000 คน จนแล้วเสร็จครบ 100% เมื่อ 22.00 น.เศษคืนที่ผ่านมา (4 ม.ค.) โดยจากการตรวจผู้ต้องขังทั้งหมดเมื่อคืนนี้พบว่าภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังที่ป่วย จากการสุ่มตรวจพบผลเลือดออกหมดแล้ว มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง และมีภาวะโพแทสซียมในเลือดต่ำ สาเหตุสงสัยเรื่องอาหาร แต่ที่ยังไม่ฟันธง 100% เพราะผลตรวจอาหารยังไม่มา ต้องรอผลแล็บ 1-2 สัปดาห์
นายแพทย์ ปิยะเปิดเผยอีกว่า เมื่อคืนนี้ได้ตรวจผู้ต้องขังจนหมด 3 พันกว่าคนแล้ว พบว่ามีคนที่มีหัวใจเต้นเร็ว คือเหมือนกับมีปัญหาเรื่องไทรอยด์ฮอร์โมนเกิน 690 คน ซึ่งในเบื้องต้นจะคัดแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คืออาการไม่มาก หมายถึงมีหัวใจเต้นเร็วไม่มากและอาการอื่นยังไม่มาก ก็จะให้ยารักษาในเรือนจำทันทีเลย แล้วจะมีการติดตามเอายาไปให้ทุกวัน
ส่วนกลุ่มที่ 2 คนที่หัวใจเต้นเร็วมาก บางคนอยู่ในระดับ 130-140 ต่อนาที ขณะที่คนปกติประมาณ 80 ต่อนาที อันนี้คือภาวะเร่งด่วน ก็จะทำการเจาะเลือดเพื่อดูว่ามีภาวะรุนแรงเร่งด่วนแค่ไหน ซึ่งตอนที่เข้าไปตรวจพบว่ามีบางส่วนเหมือนกันที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วและภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย อันนี้เป็นกรณีเร่งด่วนสุดจำเป็นต้องส่งตัวออกมารักษาข้างนอกที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อคืนนี้ได้ส่งมารักษาที่ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร 24 ราย อีกส่วนหนึ่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลวังทอง
สำหรับภาวะไทรอยด์สูงจะนำไปสู่การมีหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ บางคนใจสั่น มือสั่น และนำไปสู่การมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากสาเหตุ 1. ร่างกายสร้างฮอร์โมนตัวนี้ขึ้นมาเองมากผิดปกติ คือคนที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ 2. ได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากแหล่งภายนอก เช่น ยา หรือปนเปื้อนมาจากอาหาร และกินเข้าไป
ในกรณีผู้ต้องขังทั้งหมดไม่ได้เกิดจากร่างกายของเขาเอง แต่น่าจะเกิดจากการได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากภายนอก และที่น่าสงสัยมากที่สุดก็คือเรื่องของอาหาร แม้ว่าจะปรุงสุกแล้วก็ไม่ได้มีผลต่อการจัดการไทรอยด์ฮอร์โมนเพราะสามารถทนความร้อนได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกระบุอีกว่า กรณีมีผู้เสียชีวิตก่อนถึงมือ รพ.ยืนยันว่าเสียชีวิตในเรือนจำ แพทย์เพียงแต่รับรู้เหตุการณ์ และกว่าจะนำตัวออกมาได้นั้นต้องผ่านหลายขั้นตอน ขณะที่ผลการตรวจผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม คือรายที่ 4 นั้น พบสาเหตุการเสียชีวิตแน่ชัดว่าเกิดจากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีผู้เสียชีวิต 5 รายนั้น 1 รายมาจากเรือนจำกลาง ซึ่งเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่จากภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง
“ผู้ต้องขังที่ป่วยทั้ง 690 รายจะให้กินยาทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย พร้อมกับวางแผนไว้ว่าในวันที่ 7 มกราคม 2563 นี้จะทำการเจาะเลือดผู้ต้องขังทั้งหมด 3,000 รายเพื่อตรวจหาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง”
นายแพทย์ สสจ.พิษณุโลกย้ำว่าไม่อยากให้ตระหนกตกใจว่าโรคนี้หรือเหตุการณ์นี้จะแพร่ขยาย หรือกระจายออกไปสู่ภายนอก ทางเรือนจำ หน่วยงานสาธารณสุข ทุกหน่วยงานทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่เกิดเหตุ พยายามที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ให้ได้ ไม่ได้มีใครเพิกเฉยหรือละเลย เราทำอย่างเต็มที่
สำหรับบรรยากาศที่หน้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก วันนี้ (5 ม.ค. 63) ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่ได้เปิดให้มีการเยี่ยมญาติ ขณะที่ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาทุกคนสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยผู้ต้องขังรายหนึ่งบอกว่าถูกส่งตัวเข้ามาที่เรือนจำในวันที่กำลังมีการป่วยรุนแรงพอดีคือวันที่ 29 ธันวาคม 2562 ช่วงนั้นก็เห็นผู้ต้องขังหลายรายมีอาการป่วยแขนขาอ่อนแรง และทราบข่าวว่ามีผู้ต้องขังเสียชีวิตด้วย สำหรับอาหารการกินนั้นก็สะอาดครบทุกมื้อ ส่วนใหญ่รสชาติค่อนข้างจืด