"คืนข้ามปี" แห่งความสุข แต่มีคนจำนวนมากที่ต้องเป็นทุกข์จากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งถือว่าเป็นวันที่มีการเจ็บตายสูง เนื่องจากเป็นค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลอง มีการดื่ม เมาแล้วขับ ประกอบกับคนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา โอกาสเกิดอุบัติเหตุจึงเพิ่มมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม "สวดมนต์ข้ามปี" ในการเจริญสติและสมาธิ แทนการออกไปฉลองด้วยน้ำเมา ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมากขึ้น
แต่ไม่ใช่ศาสนาพุทธเท่านั้นที่มีการจัดสวดมนต์ข้ามปี เสริมความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ แต่ทางศาสนาอิสลาม ยังมีการ "ละหมาด" สร้างปัญญา ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีด้วย
แล้วละหมาดช่วยลดอุบัติเหตุอย่างไร
นายหรอเฉด เอียดตรง กรรมการอิสลามประจำจังหวัดตรัง กล่าวว่า การละหมาดเป็นการกำจัด 3 อย่าง ทางกาย วาจา และใจ โดยทางกาย คือ จะต้องล้างกายให้สะอาด เครื่องอุปโภคต้องสะอาด ที่จะเคารพพระเจ้าต้องสะอาด วาจา คือ การกล่าวถึงพระเจ้า ผ่านบทสวด คำถวายพระพร และใจ คือ การตั้งจิตมั่น โน้มจิตใจเข้าหาพระเจ้า เข้าหาสิ่งที่ดีงาม ซึ่งการละหมาดยังถือเป็นการออกกำลังกายได้อีกด้วย เพราะมีการลุก ก้ม เงย นั่ง มีทั้งหมด 15 ท่า ทั้งท่าโค้ง ท่าตรง ท่าเอน เป็นต้น
"การละหมาดจึงทำให้เกิดสมาธิ และมีสติ และเมื่อเลิกจากละหมาดก็ให้ปฏิบัติเหมือนอยู่ในละหมาด จึงเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีสติ คิดดี ทำดี ความเลวก็จะห่างจากเรา เรื่องอุบัติเหตุก็เช่นกัน เพราะเมื่อใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประพฤติผิด เช่น เรื่องของดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นข้อห้ามของศาสนาอยู่แล้ว ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงเมาและเกิดอุบัติเหตุทางถนน" นายหรอเฉด กล่าว
นายหรอเฉด กล่าวว่า สำหรับการละหมาดจะทำอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง คือ เช้าตรู่ หลังเที่ยงคือบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมง สี่โมงถึงหกโมง หกโมงถึงทุ่มครึ่ง และสองทุ่มถึง 5 ทุ่ม แต่จะทำมากก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยได้ล้างกาย ฟอกใจ 5 ครั้งต่อวัน กล่าวว่าจาถึงพระเจ้า 5 ครั้งต่อวัน ก็ช่วยให้เรามีสติ มีสมาธิในการใช้ชีวิต
ขณะที่อัญญีดิเรก สมันหลี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดนูรุลยากึนบ้านดุหุน อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า การละหมาดจะทำบ้านใครบ้านมัน แต่วันศุกร์จะต้องมารวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อทำละหมาด และจะมีการเทศน์สอนในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องของบุหรี่ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงคืนสิ้นปีก็จะดึงเด็กและเยาวชนเข้ามาละหมาด และพูดหลักศาสนาเทศน์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ จึงทำให้เด้ฏและเยาวชนห่างไกลจากสิ่งมัวเมา และลดอุบัติเหตุในพื้นที่ลงได้
น.ส.ทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่ดังกล่าวมาจากการที่วันหยุดเทศกาล เด็กและเยาวชนในพื้นที่ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่น โต๊ะอิหม่ามก็บอกว่า จะดึงเข้ามาอย่างไรให้พ้นจากภัยช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองที่มีการตายจำนวนมาก เลยจัดละหมาดเชิงปัญญา ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามัสยิด คล้ายกับการสวดมนต์ข้ามปีของศาสนาพุทธ ซึ่งจากการเก็บสถิติ 2 ปี พบว่า เด็กเยาวชนเราไม่เสียชีวิตให้แก่อุบัติเหตุเลย ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่มีการขยายนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่นๆ