สธ.ลุย 2 โปรเจกต์ใหญ่ ดันคนไทยออกกำลังกาย เร่งทำแพลตฟอร์มกลาง เก็บข้อมูลการเคลื่อนไหว ศึกษาโมเดลให้รางวัลดึงคนไทยออกกำลังกาย ก่อนเสนอ รบ.ใช้ระดับประเทศในอนาคต รองรับมาตรการลดป่วย ลด รพ.แออัด
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการลดความแออัดโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ การส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกาย เพื่อลดความเจ็บป่วย ลดการมาโรงพยาบาล โดยขณะนี้พบว่า คนไทยที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอมีอยู่ประมาณร้อยละ 27 ถือว่าน้อยเกินไป ซึ่งตอนนี้คนที่ออกกำลังกายจะมี 2 กลุ่ม คือ คนที่รักและชอบออกอยู่แล้ว มีเป็นชมรมมากกว่า 600-700 ชมรม กับคนที่สุขภาพเริ่มไม่ดีและหันมาออกกำลังกาย แต่กลุ่มยังไม่ออกกำลังกายและสุขภาพยังดี ถือว่ามีจำนวนมาก เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราต้องส่งเสริมคนหน้าใหม่เหล่านี้ให้เข้ามาสู่การออกกำลังกายให้ได้ สิ่งที่จะดำเนินการในปี 2563 ในการส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกายมากขึ้นนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ
1.การเก็บข้อมูลการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวของคนไทยให้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นถังกลางในการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของคนไทยระดับหลักล้านคน โดยจะเริ่มจากบุคลากรสุขภาพกว่า 4 แสนคนและอสม.อีกล้านคนเพื่อเป็น Health Model ในการเก็บข้อมูล และค่อยขยายต่อไปในประชาชน สำหรับอุปกรณ์ในการนับก้าวนับการเคลื่อนไหวนั้น ก็มีหลากหลายอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่แล้ว เช่น นาฬิกาวัดการก้าว หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาเข้าระบบแพลตฟอร์มกลางให้ได้ ซึ่งเมื่อเราทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชาชนแล้ว ก็จะรู้ว่ามีการเคลื่อนไหวออกกำลังกายเพียงพอหรือไม่ จะวางแผนส่งเสริมต่อไปอย่างไร
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า 2.การศึกษาและทำต้นแบบการให้รางวัลเพื่อส่งเสริมให้คนเข้ามาออกกำลังกายมากขึ้น อย่างต่างประเทศก็มีการดำเนินการ เช่น สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่นที่มีกฎหมายโดยนำเรื่องของพุงหรือรอบเอวของตัวเองมามีผลต่อเรื่องของการเสียภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 เราคงยังไม่ทำสเกลระดับประเทศแบบนั้น เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้มาออกกำลังกายมีหลายหลายมาก มีความแตกต่างทั้งช่วงอายุ สถานะ การทำงาน สภาพความเป็นอยู่ วิถีการใช้ชีวิต ก็ต้องมีรางวัลที่เหมาะสมกับการดึงคนแต่ละกลุ่มให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาออกกำลังกาย จึงต้องมีการศึกษาต้นแบบของการให้รางวัลว่า ควรจะเริ่มต้นจากอะไร และรางวัลนั้นสามารถดึงคนออกมาออกกำลังกายได้จริงหรือไม่ ได้ผลกับคนไทยหรือไม่ สมมติสามารถเพิ่มคนมาออกกำลังกายได้ 10% การจะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้เป็นมาตรการระดับประเทศ ก็จะได้มีต้นแบบที่ทำมาแล้วเห็นผล อย่าง และวางแผนกันได้ว่า หากจะขยับอัตราการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น สมมติเพิ่มให้ได้อีก 10% ควรจะใส่เพิ่มรางวัลตัวไหนเข้าไป เป็นต้น