เอ็นจีโอ เชียร์นโยบายจับร้านเหล้าขายให้ "เด็ก-คนเมา" ให้รับผิดร่วมกรณีเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ เผยหลายพื้นที่ทำได้จริง จับปรับไปแล้ว แนะประชาชนช่วยแจ้งเหตุ รับส่วนแบ่งนำจับ 30% ชมอุทยานห้ามนำเหล้าเบียร์เข้าพื้นที่ ลดปัญหา เพิ่มความปลอดภัย
วันนี้ (29 ธ.ค.) นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า อุบัติเหตุจราจรทางถนน ปัจจัยหลักคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจาก ความเร็ว ง่วง ปัญหาวิศวกรรมจราจร ฯลฯ คำถามคือทำไมฆาตกรร่วมรายนี้จึงยังลอยนวล คำตอบจึงมาจบที่สองเรื่อง คือ1.การลงโทษในกรณีเมาแล้วขับที่ยังเป็นมุมมองแค่ประมาท มิใช่เจตนาเล็งเห็นผล (ไม่ว่าจะมีคนเจ็บหรือตาย) ซึ่งสองมุมนี้มีบทลงโทษต่างกัน จึงแทบไม่ได้เห็นยาแรงหรือการตัดสินคนเมาแล้วขับถูกจำคุก ผลที่ตามมา คือ ประชาชนขาดความยำเกรงไม่กลัวกฎหมาย ความพยายามในการปลุกจิตสำนึกจึงไม่เป็นผล 2.การบังคับใช้กฎหมายที่พุ่งเป้าไปยังผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
“การดำเนินคดีภายหลังจากเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ ทั้งกรณีผู้ก่อเหตุเป็นเด็ก และคนเมาขาดสติ แทบไม่เคยเห็นการสาวไปถึงตัวผู้ประกอบการที่ขายเหล้าเบียร์ให้ทั้งเด็กและคนเมา ผลที่ตามมาคือความไม่รับผิดชอบของผู้ขาย ความพยายามเรียกร้องให้ผู้ขายเกิดจิตสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นเรื่องเพ้อฝันและเป็นไปได้ยาก เรามัวหลงอยู่กับวาทกรรมที่พุ่งเป้าไปที่คนดื่มซึ่งก็ไม่ผิด แต่ในบริบทนี้ควรมีผู้ขายเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย เรื่องนี้ในระดับสากล กฎหมายบ้านเขาเอาผิดไปถึงผู้ขายด้วยชัดเจน” นายชูวิทย์ กล่าว
นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ปีใหม่นี้ สถิติคนเจ็บตายจากอุบัติเหตุจราจรทางถนน สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง แต่ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มได้เห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นจาก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่มีนโยบายกรณีเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ ให้เอาผิดไปถึงผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์ด้วย เมื่อพบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการซื้อเหล้าเบียร์มาดื่มในขณะที่ครองสติไม่ได้ จนเกิดเหตุ แม้จะมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ก็มิใช่จะทำไม่ได้ 2-3 วันที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นข่าวการดำเนินคดีไปถึงร้านเหล้ากันบ้างแล้ว เช่น กรณี สภ.เมืองน่าน จ.น่าน สภ.เขลางค์นคร สภ.ลำปาง จ.ลำปาง สภ.ทองแสนขันท์ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งพบเด็กก่อเหตุเมาแล้วขับ และตำรวจสาวไปถึงตัวผู้ประกอบการที่ขายให้เด็กจนถูกนำมาดำเนินคดีได้
“จุดนี้ชี้ให้เห็นชัดว่าหากนโยบายชัดเจน การปฏิบัติเป็นจริง ความหวังลดอุบัติเหตุ สร้างความรับผิดชอบร่วมของผู้ขายเหล้าเบียร์ จะเป็นจริงได้ และที่สำคัญประชาชนต้องลุกขึ้นมาเป็นหูเป็นตาช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุหากพบการขายให้เด็กและคนเมาขาดสติ แจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ได้ทุกแห่ง และยังขอรับเงินสินบนนำจับในอัตรา 30% จากอัตราเปรียบเทียบปรับได้ด้วย หวังว่าปีใหม่ปีนี้ กระบวนการยุติธรรมจะปรับมุมมองเรื่องเมาแล้วขับ ที่มิใช่แค่เรื่องประมาท ให้เป็นเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อให้จำคุกกันอย่างจริงจังเสียที ทั้งสองเรื่องถ้าเกิดขึ้นได้จริงเป็นการเกาให้ถูกที่คัน เราจะได้เห็นอุบัติเหตุลดลงแน่ สุดท้ายนี้ ขอชื่นชมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้มงวด ห้ามนำเหล้าเบียร์เข้าไปในพื้นที่อุทยาน วนอุทยาน เพื่อลดปัญหา จากการสอบถามประชาชนพบว่าจำนวนมากพอใจกับมาตรการนี้ เพราะคนเมามักจะสร้างปัญหาและความเดือดร้อน รำคาญ และรู้สึกปลอดภัยขึ้น หลังปีใหม่เครือข่ายเตรียมเข้าพบ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. เพื่อขอบคุณ” นายคำรณ กล่าว