xs
xsm
sm
md
lg

ดึง อสม.เจาะเลือดค้นหาผู้ติดเชื้อ "โรคเท้าช้าง" ป้องกัน "สุไหงปาดี" กลับมาระบาดซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ชูโมเดลเฝ้าระวัง "โรคเท้าช้าง" ระบาดซ้ำใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ผ่านกลไก อสม.เจาะเลือดค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจแบบเร็ว ช่วยค้นหาผู้ป่วยได้ไว พร้อมติดตามผลเจาะเลือดซ้ำ ช่วยป้องกันกลับมาระบาดซ้ำ เผย WHO ประกาศไทยประสบความสำเร็จกำจัดโรค แต่ยังมีความเสี่ยงสูงในพื้นที่นราธิวาส

วันนี้ (23 ธ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงผลงานรูปแบบเฝ้าระวังการกลับมาระบาดซ้ำของโรคเท้าช้างใน อ.สถไหงปาดี จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐแห่งชาติระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ปี 2562 ว่า โรคเท้าช้างเป็นโรคประจำถิ่นของจังหวัดนราธิวาส มีอัตราความชุกของโรคสูงที่สุดในประเทศไทย และเป็นจังหวัดเดียวที่ยังคงตรวจพบเชื้อพยาธิไมโครฟิลาเรียอยู่ ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างไปแล้วในเดือนกันยายน ปี 2560 ก็ตาม แต่เนื่องจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะขนาดใหญ่อยู่ และประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดตลอดเวลา จึงมีโอกาสรับเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างได้สูงมากกว่าพื้นที่อื่น

นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้พัฒนารูปแบบเฝ้าระวังการกลับมาระบาดซ้ำของโรคเท้าช้าง โดยการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เข้าดำเนินการเจาะเลือดค้นหา ผู้ติดเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างด้วยการใช้ชุดตรวจแบบเร็วสำเร็จรูป และทำฟิล์มเลือดหนา ในเขตรับผิดชอบของตนเอง ทำให้มีความครอบคลุม และได้ผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยในปี 2561 สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างจำนวน 8 ราย ดังนี้ อำเภอสุไหงโก-ลก พบผู้ติดเชื้อจำนวน 4 ราย อำเภอสุไหงปาดี พบผู้ติดเชื้อจำนวน 3 ราย และอำเภอตากใบ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1 ราย ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข และผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาทันที  

"การพัฒนารูปแบบแนวทางดังกล่าวโดยให้ อสม.ดำเนินการเจาะเลือดและติดตามผลการเจาะเลือดซ้ำในผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง เป็นแนวทางการควบคุมโรค โดย อสม.ต้องให้ความร่วมมือเข้ามาช่วยในการดำเนินการ และเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประชาชนได้รับการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเท้าช้างได้อย่างทันเวลา ก่อนนำไปสู่ความพิการในอนาคต ซึ่งถ้าคนในชุมชนไม่ป่วยเป็นโรคเท้าช้าง และไม่เกิดความพิการ ก็จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี รายได้เศรษฐกิจก็จะดีตามมา ค่าใช้จ่ายในระบบบริการสาธารณสุขก็จะลดลง ซึ่งสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอนามัยโลกต่อไป" นพ.เฉลิมพล กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น