xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราช ร่วมมือจีน วิจัย "ภูมิคุ้มกันบำบัด" รักษามะเร็งแนวใหม่ ด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวดัดแปลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศิริราชร่วมมือสถาบัน GIMI จากจีน วิจัยทางคลินิกด้าน “ภูมิคุ้มกันบำบัด" รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งตอมน้ำเหลือง รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต CAR T-cells เซลล์เม็ดเลือดขาวจากผู้ป่วยที่นำมาดัดแปลงให้จดจำเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ มีความปลอดภัยสูง หากวิจัยสำเร็จจะช่วยลดค่ารักษาจาก 11-14 ล้าน เหลือเพียงหลักแสนบาท

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ รพ.ศิริราช  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Professor Dr. Lung - Ji Chang ประธานสถาบัน Geno-Immune Medical Institute (GIMI) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมมือดำเนินการวิจัยระดับคลินิกด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง (Cancer Immunotherapy) โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ (T-cells) ที่มีการดัดแปลงโมเลกุลรับสัญญาณให้เป็นแบบลูกผสม (Chimeric antigen receptor T-cells หรือ CAR T-cells) จากผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน GIMI และทดสอบประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคมะเร็งในระดับคลินิก

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ที-เซลล์ที่มีการดัดแปลงโมเลกุลรับสัญญาณให้เป็นแบบลูกผสม (CAR T-cells) ถือเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวใหม่ เรียกว่า “เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (Cellular immunotherapy)” ซึ่งผลิตจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่แยกมาจากเลือดของผู้ป่วยและนำมาดัดแปลงด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา (Molecular biology) ให้สามารถจดจำเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ มีความสามารถในการกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น และใส่กลับไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีการรักษานี้จึงมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่นำมาเปลี่ยนแปลงภายนอกร่างกายและใส่กลับให้ผู้ป่วยนั้นเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง การใช้ CAR T-cells ในการรักษาโรคมะเร็งได้รับการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ในรูปแบบของ Living drug จากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ CAR T-cells ที่ถูกดัดแปลงให้มีความจำเพาะต่อโปรตีน CD19 (CD19-CAR T cells) ที่มีการแสดงออกมากบนผิวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบี-เซลล์และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผลการวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสามารถของ CD19-CAR T cells ในการทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยมีราคาต่อ 1 ขนานอยู่ที่ $373,000-$475,000 หรือประมาณ 11-14 ล้านบาท 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพ และมีราคาเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยชาวไทย ประกอบกับการมีความร่วมมือด้านงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ Professor Dr. Lung-Ji Chang ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต CD19-CAR T cells รุ่นใหม่ซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 (4th Generation) ที่ผ่านการทดสอบในมนุษย์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง อีกทั้งกระบวนการผลิต CD19-CAR T cells นี้ ยังมีราคาที่ย่อมเยากว่าราคาในท้องตลาดในปัจจุบันหลายเท่าตัว ภายหลังการลงนาม ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง ศิริราช จะเริ่มรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต CD19-CAR T cells รุ่นใหม่นี้จากสถาบัน GIMI รวมไปถึงแลกเปลี่ยนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงทำการทดสอบประสิทธิภาพของ CD19-CAR T cells ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชาวไทย

"การรักษามะเร็งด้วยวิธีดังกล่าว ยังเป็นการวิจัยทางคลินิก ซึ่งทางศิริราชนำมาศึกษาต่อลองในมนุษย์  ทั้ง 4 ระยะ เบื้องต้นใช้ต่อยอดในการศึกษาทดลองรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก่อน และอาจขยายรักษามะเร็งอื่นๆ โดยพบว่า ข้อบ่งชี้ในการศึกษาเพื่อรักษาด้วยวิธีดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการดื้อต่อเคมีบำบัด ซึ่งในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีอัตราการดื้อเคมีบำบัดร้อยละ  70 ส่วน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองดื้อเคมีบำบัด ร้อยละ 40-50  คาดว่าจะสามารถเริ่มการทดลองได้ใน 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันด้วยวิธีเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงนี้ อยู่ที่ 11-14 ล้านบาท แต่หากการศึกษาวิจัยสำเร็จก็จะทำให้การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมีราคาถูกลง ถึง 10 เท่า เหลือ หลักแสนบาทเท่านั้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น