xs
xsm
sm
md
lg

ถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยมือถือและแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเลี้ยงดูลูกถือว่าเป็นงานหนักสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาทุกยุคทุกสมัย เพราะนอกจากจะต้องออกไปทำงานหารายได้มาสร้างครอบครัวแล้ว ยังต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจมาดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิดเสมอ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบันได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่หันมาอาศัยมือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการเลี้ยงลูกกันเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอาจทำหน้าที่ในการดูแลเด็กๆได้ดีในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเนื้อหาและเรื่องราวที่น่าสนใจได้อย่างหลากหลายและสะดวกรวดเร็ว ด้วยรูปแบบ แสงสี เสียงที่น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งช่วยให้เด็กๆสามารถนั่งนิ่งเพื่อค้นหาและติดตามสิ่งที่ตัวเองสนใจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด คุณพ่อคุณแม่จึงมีเวลาให้กับการหารายได้ รวมทั้งสามารถพักผ่อนได้มากขึ้นในขณะที่เด็กๆสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้มากมายโดยไม่ต้องกังวลว่าจะหนีออกไปเล่นซนจนสร้างความเดือดร้อนมาให้วุ่นวายใจ

แต่การจะยอมรับว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้การเลี้ยงลูกและชีวิตของเราดีขึ้นนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ต้องการเวลาในการพิสูจน์อีกพอสมควร เนื่องจากมีความกังวลใจมากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับเด็กในการนำสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมาเป็นเครื่องมือทุ่นแรงของคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กๆ ทั้งในแง่พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางสมองซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะทางสังคม กล่าวคือ

1.ผลกระทบต่อร่างกาย - มือถือและแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำให้เด็กติดตรึงและใช้เวลาเฝ้าดูแสงสว่างจากหน้าจอเป็นเวลานานได้อย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็น มีอาการปวดแสบตาจนลืมตาไม่ขึ้น สายตาพร่ามัวจนมองเห็นไม่ชัดเจน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความเครียด มีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนเพลียเป็นประจำ ไร้เรี่ยวแรงในการดำเนินชีวิตประจำวัน

การใช้งานมือถือและแท็บเล็ตยังอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายโดยรวม การเคลื่อนไหวร่างกายจำกัดมักเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ซึ่งทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆตามมา นอกจากนี้ การที่กล้ามเนื้อและกระดูกของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ ไม่แข็งแรงเพียงพอ การนั่งผิดท่าทางและไม่มีการผ่อนคลายเปลี่ยนอิริยาบทจะทำให้รู้สึกเกร็งหรือเมื่อยล้าจนมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณคอและแผ่นหลังได้ง่าย เมื่อสะสมการบาดเจ็บเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติรุนแรงที่กระดูกสันหลังได้

2.ผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ - การเลี้ยงลูกด้วยมือถือหรือแท็บเล็ตมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD) ได้มาก เนื่องจากสมองเกิดความเคยชินต่อสิ่งเร้าด้วยสีสันสดใสของภาพและแสงที่กระพริบอย่างรวดเร็วที่สร้างความตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา แต่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตตามปกติที่ต้องอาศัยเวลาหรือทำไปตามขั้นตอน เด็กจะไม่สนใจรายละเอียดของสิ่งรอบตัว ไม่สามารถนั่งเฉยและมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานอาจต้องรับมือกับอารมณ์ที่รุนแรงและแปรปรวนของเด็กอยู่เสมอ เด็กที่เคยชินกับความสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีสมัยใหม่มักขาดความอดทน ไม่รู้จักรอคอยและมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ในชีวิตจริงที่ผิดไปจากความคาดหวังหรือไม่ได้อย่างใจในทันทีด้วยความฉุนเฉียว โมโหร้ายและพัฒนาเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว หรือในทางตรงข้ามอาจแสดงออกถึงความเครียดและวิตกกังวลจนมีอาการซึมเศร้าและเก็บตัว

3.ผลกระทบต่อทักษะทางสังคม - การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง ทั้งโดยการพบปะพูดคุย การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางต่อกัน หรือการทำงานร่วมกันนั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงตัวเด็กเข้ากับกิจกรรมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบทบาท ตัวตนและความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม การปล่อยให้เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนับเป็นการสร้างข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะทางสังคมให้กับเด็กไปโดยปริยาย

เทคโนโลยีถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นตัวเร่งที่แยกเด็กออกจากการเรียนรู้ทางสังคมที่เป็นจริงและการผลักไสให้เข้าไปติดอยู่ในความสัมพันธ์บนโลกเสมือนซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าสำหรับเด็ก ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมักทำให้เด็กขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และพยายามปรับตัวเข้าหาคนอื่นเพื่อตอบสนองต่อกันในทิศทางที่เหมาะสม รวมถึงการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อความคาดหวังจากบุคคลอื่น ซึ่งจะยิ่งทำให้การเข้าสังคมเป็นไปได้ยากขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกๆด้านตามมา

เมื่อพิจารณาถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกด้วยมือถือหรือแท็บเล็ตแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะตัดสินใจได้ไม่ยากว่าการเลี้ยงดูลูกที่อยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเอาใจใส่ และการทุ่มเทเวลาเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นโดยมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายสติปัญญาและจิตใจที่ดีนั้น แม้จะเป็นงานที่หนักแต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการหวังความสะดวกสบายจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือทุ่นแรง ดังนั้น เรามาเลิกเลี้ยงลูกด้วยมือถือและแท็บเล็ตกันเถอะ


กำลังโหลดความคิดเห็น