กรมอนามัย ชี้ "ร้านเสริมสวย" เป็นกิจการอันตรายต่อสุขภาพ เผย 5 สุขลักษณะที่ร้านเสริมสวยต้องมี ย้ำที่แคะเล็บ ตะไบเล็บ ต้องทำความสะอาดหลังใช้ทุกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ป้องกันกระจายเชื้อสู่ผู้รับบริการ ย้ำหากผิดมาตรฐาน เจ้าหน้าทีท้องถิ่นสั่งปีบปรุงแก้ไข หากไม่ทำสั่งหยุดกิจการได้
วันนี้ (17 ธ.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีสาวทำเล็บปลอมที่ร้านเสริมสวย โดยมีการใช้กาวตราช้างติด ภายหลังติดเชื้อที่นิ้วหัวแม่มือลามเข้าข้อกระดูก ว่า การเข้าไปใช้บริการทำเล็บในร้านเสริมสวย ผู้ใช้บริการควรเลือกร้านโดยเน้นที่ความสะอาดปลอดภัยก่อนทำทุกครั้ง และไม่ควรให้ช่างทำเล็บแซะที่ขอบเล็บ เพราะจะทำให้เกิดการแผลอักเสบ เป็นหนอง และลุกลามถึงข้อกระดูกได้ ซึ่งการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ของร้านเสริมสวยเป็นสิ่งสำคัญที่ร้านเสริมสวยต้องใส่ใจเพื่อป้องกันเชื้อโรค ไม่ให้แพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้บริการ ดังนั้น ร้านเสริมสวยจะต้องทำความสะอาดเครื่องมือทำเล็บ ตะไบเล็บ ที่แคะเล็บ และที่ตัดเล็บ โดยฆ่าเชื้อโรคด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ หลังการใช้งานทุกครั้ง สำหรับช่างทำเล็บต้องดูแลสุขภาพอนามัยตนเองให้แข็งแรง และรักษาความสะอาดสม่ำเสมอ ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก รวมถึงมีการตรวจสุขภาพประจำปี และมีใบรับรองแพทย์ หากเป็นโรคติดต่อ ต้องรักษาตนเองจนหายเป็นปกติ
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จากข้อมูลที่เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2557 ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า สถานประกอบกิจการไม่ผ่านการประเมินและต้องปรับปรุง คือ พื้น ผนังชำรุดและมีคราบสกปรก อ่างสระผมและเตียงมีคราบสกปรกหรือชำรุด อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ที่แคะเล็บ ตะไบเล็บไม่สะอาด ไม่มีการทำความสะอาดหลังการใช้งานประจำวัน ไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค พบการปนเปื้อนเชื้อรา 81 ตัวอย่าง แม้จะเป็นเชื้อราที่ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากผู้รับบริการมีสุขภาพที่อ่อนแอ อาจทำให้เกิดโรคได้ ไม่มีการจัดการขยะที่เป็นอันตราย เช่น ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม กระป๋องสเปรย์ และที่สำคัญผู้ให้บริการบางรายมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย อาจแพร่เชื้อโรคได้ โดยในการตรวจประเมินในครั้งนี้ เจ้าพนักงานกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเสริมความงามทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือให้บ่อยขึ้นหากไม่ปรับปรุงแก้ไขจะใช้มาตรการยึดใบอนุญาต
"กิจการเสริมสวยหรือแต่งผม ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 5/2538 ซึ่งต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนดำเนินกิจการ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจใช้มาตรการทางปกครองให้ผู้ประกอบกิจการแก้ไขหรือปรับปรุงการประกอบกิจการนั้นให้ถูกต้อง ถ้าหากไม่แก้ไขหรือปรับปรุง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินกิจการนั้นไว้ทันที" พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สถานประกอบการเสริมความงามและแต่งผมแต่ละแห่งจะต้องดำเนินการให้ ถูกสุขลักษณะดังนี้ 1.พื้น ผนัง อ่างสระผม และเตียง ต้องไม่มีคราบสกปรก ไม่ชำรุด 2.สถานประกอบการ อุปกรณ์ เครื่องมือเสริมความงามต่างๆ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ต้องทำความสะอาดทุกวัน โดยเฉพาะที่แคะเล็บ ตะไบเล็บ ต้องทำความสะอาดแล้วต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค 3.ควรจัดการขยะที่เป็นอันตราย ได้แก่ ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม และกระป๋องสเปรย์ ให้เรียบร้อย 4.มีใบอนุญาตในการประกอบการจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแสดงในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัด และ 5.ช่างทำผมมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อไม่แพร่เชื้อโรคให้ผู้มารับบริการ