สมาคมพิษวิทยา เผย "สารกัญชา" ผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์และน้ำนม ห่วงทีเอชซีสูง ก่ออาการเมา สับสน ประสาทหลอน หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจขาดเลือด ส่วนซีบีดีเด่น ทำคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม ยันนำมาสูบร่วมบุหรี่ไฟฟ้าก่อปอดอักเสบ รุนแรงถึงตาย ใช้ร่วมยาอื่นเสี่ยงยาตีกัน เกิดผลข้างเคียง
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ กรรมการบริหารสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะพิษจากกัญชาและสารสกัดกัญชานั้น เนื่องจากกัญชาเป็นพืชล้มลุกที่มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์และวิธีการปลูกส่งผลให้มีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยสารที่มีฤทธิ์เสพติด ทำให้เกิดอาการเมาเคลิ้ม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชคือ THC ขณะที่สารอีกชนิดคือ CBD ไม่มีฤทธิ์เสพติด และช่วยต้านอาการเมาเคลิ้มจาก THC ทั้งนี้ สารในกัญชาสามารถผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ และสามารถผ่านลงในน้ำนมได้ สำหรับภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชาที่มี THC สูง จะทำให้เกิดอาการเด่นทางระบบประสาท และอาการระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการเมาเคลิ้ม สับสน ประสาทหลอน หมดสติ เดินเซ กล้ามเนื้อกระตุก เจ็บแน่นหน้าอก อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ หัวใจล้มเหลว และอาจกระตุ้นภาวะหัวใจขาดเลือดได้ นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ภาวะพิษเฉียบพลันจาการกัญชาที่มี CBD เด่น จะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ง่วงซึม
ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวว่า การนำสารสกัดกัญชามาสูบผ่านอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ กัญชาและสารสกัดกัญชาอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นๆ ได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและสารสกัดกัญชาได้ การใช้กัญชาในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะต่างๆ เช่น อาการทางจิต โรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดส่วนปลายตีบ โรคถุงลมโป่งพอง เนื้อสมองฝ่อ ค่าการทำงานของตับผิดปกติ มะเร็งอัณฑะ และการท้องนอกมดลูก การกัญชาใช้ในเด็ก วันรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้นส่งผลเสียของการเจริญและพัฒนาการของระบบประสาท
คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานรองรับ สมควรจ่ายและติดตามดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองว่ามีสิทธิ์ในการจ่ายสารสกัดกัญชาเท่านั้น และก่อนการจ่ายสารสกัดกัญชาควรมีการประเมินข้อบ่งใช้ ข้อห้าม ความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและอันตรกิริยาระหว่างยาและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติเสมอ และบุคคลทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่ควรใช้กัญชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือสตรีผู้วางแผนจะบุตร และไม่สมควรให้มีการใช้สารสกัดกัญชากับบุหรี่ไฟฟ้า