ปลัดสธ.สั่งแจ้งความดำเนินคดี "คนไข้" ใช้กรรไกรจะแทงคอหมอสาวแล้ว ฐานพยายามฆ่า ตามฎีกา เหตุคอเป็นบริเวณเปราะบาง ทำร้ายเสี่ยงเสียชีวิตได้ แจงหมอตรวจตามมาตรฐานจากคนไข้หนักไปเบา ส่วนคนไข้รายดังกล่าวหายดีแล้ว อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 2-3 วัน แต่ยังไม่ยอมกลับ ไม่มีปัญหาป่วยจิต แต่อาจมีปัญหาอารมณ์
วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทย์หญิง รพ.รัฐแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ถูกคนไข้หอผู้ป่วยในใช้กรรไกรจะทำร้ายร่างกายขณะออกตรวจ ว่า ตนได้รับรายงานเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ว่าขณะที่แพทย์หญิงรายดังกล่าวกำลังดูแลคนไข้ แต่มีคนไข้อารมณ์ร้อนว่า รอตรวจนาน ได้ใช้กรรไกรจะแทงบริเวณคอ แต่แพทย์หญิงก็ป้องกันตนเองได้ โดยใช้แฟ้มประวัติคนไข้ จากการสอบถาม พบว่า แพทย์ก็ทำตามมาตรฐานด้วยการตรวจคนไข้อาการหนักก่อน ตามด้วยปานกลาง และเบา ซึ่งคนไข้รายนี้เข้ามารับการรักษาด้วยอาการภูมิแพ้ ซึ่งอาการภูมิแพ้ก็สามารถนอนใน รพ.ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ แต่คนไข้รายนี้ก็อาการดีขึ้นจนเป็นปกติแล้ว และแพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้มา 2-3 วันแล้ว แต่คนไข้ยังไม่สบายใจขออยู่ รพ.ต่อ ทาง รพ.ก็ให้อยู่ เพราะแม้จะอาการดีขึ้น หรืออาการไม่ได้รุนแรงจนต้องนอน รพ. แต่หากผู้ป่วยไม่สะดวก อาจจะด้วยปัจจัยทางสังคมหรืออะไรก็ตาม เราก็ยินดีรับดูแลใน รพ. แต่ความเป็นจริง ถ้าให้กลับบ้านแล้วก็อยากให้กลับ เพราะหากไม่กลับจะก็ทำให้แออัด คนไข้รอเข้าก็เข้าไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่สามารถลากคนไข้ออกไปไหนได้
"จากข่าวก็บอกว่าผู้ป่วยรอนาน ซึ่งหมอก็อธิบายว่า ต้องดูคนไข้หนักก่อน ซึ่งผู้ป่วยท่านนี้นอน รพ.อยู่แล้ว ไม่ต้องไปไหน ก็อยู่ในช่วงเช้า ไม่ใช่เที่ยงคืนตีหนึ่งแล้วมาตรวจ จากรายงานผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีอาการป่วยทางจิต แต่อาจมีแค่บุคลิกภาพหรืออารมณ์ ซึ่งการใช้อารมณ์ตัดสินใจทำแบบนี้ก็ผิดกฎหมาย แม้ทางเราจะเห็นใจผู้ป่วย แต่ก็ต้องทำตามกฎหมาย คือ ทำตามรูปคดี ก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีไป แต่ถ้าจะมีโรคทางสุขภาพจิตอะไรหรือไม่ ก็คงต้องมีแพทย์ไปตรวจวิเคราะห์" นพ.สุขุม กล่าวและว่า เรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ผู้บริหารในพื้นที่ประสานกับทางตำรวจภูธรขอนแก่นและอัยการ ในการไปแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาพยายามฆ่า ตามฎีกาที่บอกไว้ว่า คอเป็นส่วนอันตราย มีเส้นเลือดจำนวนมาก หากทำร้ายอาจถึงแก่ชีวิตได้ และส่งหลักฐานภาพในคลิปขณะเกิดเรื่อง และวัตถุพยาน คือ กรรไกร ส่งประกอบดำเนินคดี ส่วนคุณหมอไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร แต่ก็ค่อนข้างเสียขวัญ จึงให้ลาพัก ตนก็ได้โทร.คุยเป็นการส่วนตัว บอกให้สบายใจ จะดูแลเต็มที่ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน และมอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้ตรวจราชการ สธ.เขตลงไปดูแล
นพ.สุขุม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของภาระงาน หรือบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยก็นอนอยู่ใน รพ.อยู่แล้ว ไม่ได้ว่าจะต้องรอคิว ซึ่งการจัดคิวเป็นเรื่องของผู้ป่วยนอก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของมาตรฐาน ซึ่ง รพ.ก็มีมาตรฐานเอชเอ โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือสรพ. อยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาหารือเพื่อยกระดับมาตรฐานขึ้นไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะในหอผู้ป่วยทั้งหมด เพราะเรื่องนี้ทำให้พบว่า อุปกรณ์ที่เราเคยใช้ อย่างกรรไกรสำนักงานก็ไม่คิดว่าจะอันตรายเอาใช้เป็นอาวุธได้ ก็สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ ที่ดูแลเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด หารือกับทางกรมการแพทย์ อย่างเรื่องการเก็บอุปกรณ์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นระเบียบมากขึ้นหรือไม่ การดูแลผู้ป่วย เรื่องความแออัด เรื่องอาคาร การขนส่งผู้ป่วย จำนวนเตียงว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ส่วนเรื่องของบุคลากรเรามีแผนอยู่ในการใช้เวลาทำงานมากำหนดจำนวนบุคลากรที่เหมาะสม ซึ่งอยู่ในแผนปีงบประมาณ 2564
ถามว่ากังวลหรือไม่ที่ความรุนแรงใน รพ.ขยายวงจากห้องฉุกเฉินมาถึงหอผู้ป่วยใน นพ.สุขุม กล่าวว่า เรื่องนี้สังคมต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องของรพ.อย่างเดียว หากมอบรพ.จัดการ และถ้าทำรั้วห้าม สกรีนคนไข้ทุกคน เช็กอาวุธ ประสาท ก็คงไม่ได้ เราเป็นหน่วยบริการดูแลเมื่อเจ็บป่วย ก็ขอให้เห็นใจ การมาตีในห้องฉุกเฉิน ระหว่างหมอปั๊มหัวใจคนไข้ ตีกันนิดเดียวแค่สะใจ แต่คนไข้อีกคนเสียชีวิต ถ้าคนนั้นเป็นคนในครอบครัวของท่านจะรู้สึกอย่างไร และความสะใจนิดเดียวอาจต้องแลกมากับโทษที่ทำร้ายหรือบุกรุกสถานที่ราชการ โทษก็ 5-10 ปี ดังนั้น ถ้าท่านมีประเด็นอะไรไม่พอใจก็หลีกเลี่ยง รพ.