ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สาธารณสุขประกาศเอาผิดข้อหาพยายามฆ่า หญิงคนไข้ก่อเหตุทำร้ายแพทย์หญิง รพ.ชุมแพ ในห้องตรวจผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ขณะที่ญาติอ้างป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 62 เกิดเหตุคนไข้หญิงล็อกคอแพทย์หญิงโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น แล้วใช้กรรไกรทำร้ายร่างกาย ขณะออกตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล เพราะไม่พอใจที่แพทย์ตรวจโรคให้ตนเองช้า หลังจากเกิดเหตุแพทย์หญิง อายุ 25 ปี ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.ชุมแพ พร้อมทั้งนำคลิปวิดีโอไปให้ร้อยเวรตรวจสอบ
โดยภาพในคลิปเกิดขึ้นภายในห้องอายุรกรรมหญิง มีคนไข้หญิงรายหนึ่งโวยวายพร้อมตะโกนเสียงดังว่า “เป็นลูกเทพ ลูกเทวดา ถ้าตรวจช้าแบบนี้มาตายพร้อมกันไปเลย” ก่อนจะกระโดดล็อกคอแพทย์หญิง จากนั้นก็คว้ากรรไกรพุ่งเข้าจะแทงลำคอ แต่แพทย์หญิงยกแฟ้มเอกสารขึ้นมาบังไว้ได้ทัน ทำให้คมกรรไกรจิ้มไปที่แฟ้มแทน ท่ามกลางเสียงร้องขอความช่วยเหลือ จนพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือได้ทัน
พยาบาลที่เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเล่าว่า ขณะเกิดเหตุมีญาติผู้ป่วยเดินมาแจ้งพยาบาลว่าคนไข้รายดังกล่าวถือกรรไกรเดินตามคุณหมอ ช่วยตามไปดูหน่อยกลัวจะเกิดเหตุร้าย ตนจึงรีบเดินตามไป และทันได้เห็นคนไข้รายนี้กำลังลงมือก่อเหตุตามคลิปวิดีโอ
ล่าสุด วันนี้ (11 ธ.ค.) เวลา 14.30 น. ที่โรงพยาบาลชุมแพ พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 7 พร้อมด้วย พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น และ พ.ต.อ.ถนอมศิลป์ วงศ์วิจารย์ ผกก.สภ.ชุมแพ ได้เปิดแถลงข่าวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงวาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวยืนยันว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ให้ดำเนินคดีโทษสูงสุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและให้หลาบจำ ดูจากเหตุการณ์แวดล้อมแล้วคำพูดของผู้กระทำผิดคือจะเอาให้ถึงตาย และมีอาวุธซึ่งเป็นกรรไกรทำแผลที่เอามาจากรถทำแผลของโรงพยาบาล มีการจี้ที่บริเวณสำคัญ ถือว่าเข้าข่ายพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายมาตรา 288 และมาตรา 80 กระทรวงสาธารณสุขต้องปกป้องเจ้าหน้าที่ให้ถึงที่สุด
ด้าน พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ กล่าวว่า คนไข้รายนี้เข้ามารับการรักษาเพราะมีปัญหา แพ้สารที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นโรคที่พบยาก จากการประเมินพฤติกรรมและสภาพจิตแล้วยังไม่พบว่าคนไข้มีภาวะโรคซึมเศร้า แต่เป็นเรื่องของบุคลิกภาพแปรปรวน ทราบเพียงว่าคนไข้เคยมีการรักษาเรื่องโรคซึมเศร้า และมีการใช้ยาในปริมาณสูง แต่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริง
ส่วนแนวทางการปฏิบัติต่อคนไข้รายนี้ เนื่องจากเป็นเคสที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องมีแพทย์เฉพาะทาง โดยทางโรงพยาบาลได้ประสานกับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อส่งผู้ป่วยไปรักษา และอาจมีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาดูแลด้วยอีกทางหนึ่ง