ปลัดแรงงานสั่ง "ประกันสังคม" ศึกษาความเป็นไปได้ ใน 1 เดือน เพิ่มสิทธิเงินว่างงาน 75% ของเงินเดือน 180 วันทุกกรณี ทั้งเลิกจ้าง ลาออก ให้ออก จ่อชงคกก.กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพิ่มงบเป็น 1 พันล.บาท คาดไตรมาสแรกปี 63 อาจตกงาน 5 หมื่นคน
วันนี้ (6 ธ.ค.) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เรื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน กรณีว่างงาน ว่า จากการหารือทางสภาองค์การลูกจ้างฯ มีข้อเสนอ 2 เรื่องหลัก คือ 1. ขอให้มีการปรับสิทธิประโยชน์ จ่ายเงินกรณีว่างงานร้อยละ 75 ของอัตราเงินเดือน ระยะเวลา 180 วัน ในทุกกรณี ทั้งเลิกจ้าง ลาออก และการให้ออก เป็นต้น ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยเลขาธิการ สปส.ให้เวลา 1 เดือน ในการดำเนินการและรายงานมายังตน ว่าสามารถทำได้ในกรอบที่เรียกร้องหรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับตัวเลขอย่างไร
2. ข้อเสนอในการเพิ่มงบประมาณกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็น 1,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินชดเชย ทางกองทุนจะจ่ายให้แทนเพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีเงิน 221 ล้านบาท ซึ่งสภาองค์การลูกจ้างฯ กังวลว่า จะไม่เพียงพอ แต่จากข้อมูล 5 ปี ที่ผ่านมา ในส่วนของรายรับและจ่ายออกยังมีความสมดุล หากยังจ่ายในอัตรานี้ ตนก็ยืนยันว่ายังมีความมั่นคงอยู่ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่เราจะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)
ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 221 กว่าล้านถือว่าวิกฤตหรือไม่ นายสุทธิ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ายังมั่นคง เพราะเรามีการเตรียมพร้อมมาตรการต่างๆ ในการรองรับคนตกงานด้วย ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินกองทุสงเคราะห์เท่านั้น แต่ยังเตรียมตำแหน่งงานกว่า 8.7 หมื่นตำแหน่ง ทั้งนี้ จากตัวเลขการเลิกจ้างปี 2562 ล่าสุดอยู่ที่ 3.5 - 4 แสนราย คิดร้อยละ 1 เท่ากับสถานการณ์เมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม ได้มีการคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 น่าจะมีจำนวนคนตกงานราว 5 หมื่นคน ถือเป็น 2 เท่าของคนที่ถูกเลิกจ้างในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างตามประเภทกิจการด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมีออร์เดอร์เพิ่มก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น