ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเสวนา “ร่วมมือ ร่วมใจ แก้ไขวิกฤต PM 2.5” เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร โดยหวังให้ได้นำอากาศดีสู่ชาวกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (6 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “ร่วมมือ ร่วมใจ แก้ไขวิกฤต PM 2.5” เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สร้างคุณภาพอากาศที่ดีให้กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสภาพแวดล้อม จึงได้กำหนดจัดเสวนา “ร่วมมือ ร่วมใจ แก้ไขวิกฤต PM 2.5” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ประเด็นการเสวนาแบ่งเป็น 2 รอบ รอบที่ 1 มุมมองปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในบริบทของกรุงเทพมหานคร และรอบที่ 2 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อย่างไร โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านอากาศจากหลายสถาบัน ได้แก่ นายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, รศ.ดร.วราวุธ เสือดี สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีนางจินดารัตน์ ชโยธิน ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกกรุงเทพมหานคร และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับการเสวนาดังกล่าวได้เชิญผู้เข้ารับฟังการเสวนาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการขนส่ง (รถบรรทุก รถร่วมบริการ รถสองแถว) ผู้แทนระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้าบีทีเอส/เอ็มอาร์ที/ขสมก.) อาคารสูง ห้างสรรพสินค้า ชุมชน/ประชาชน ผู้ประกอบการที่ใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ศาสนสถาน สถานศึกษา กรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมธุรกิจและพลังงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขต 50 เขต เข้าร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครขนาดใหญ่ มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว มีจำนวนประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ส่งผลให้ปริมาณการอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีจำนวนรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน กิจกรรมการก่อสร้างมากกว่า 30,000 ยูนิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาฝุ่นละอองซึ่งเป็นมลพิษอากาศควบคู่กับปัญหาการจราจร ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังพบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีสาเหตุหลักมาจากรถยนต์โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลประมาณร้อยละ 60 การเผาในที่โล่ง ร้อยละ 35 และอื่นๆ ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะการควบคุมที่แหล่งกำเนิด ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยามีอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยตัวขึ้นสูงได้ เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น และอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากขาดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพในอนาคต จึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญและกำหนดเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างจริงจัง มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่สามารถตรวจวัดต่อเนื่องตลอดเวลา (Real time) พร้อมรายงานข้อมูลสู่สาธารณชนผ่าน เว็บไซต์ Facebook และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสั่งการหน่วยงานปฏิบัติและบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อติดตามและรายงาน พร้อมแจ้งเตือนสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ยังดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่แหล่งกำเนิดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้พร้อมใช้งาน และตรวจสภาพเครื่องยนต์ ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อไม่ปฏิบัติงานหรือจอดรถรอรับ-ส่ง ลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตดำเนินการจัดเก็บขนมูลฝอยในถนนสายหลักและถนนสายรองให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน และให้รถราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้ารับการตรวจวัดมลพิษ ทุก 6 เดือน กรณีพบมลพิษเกินมาตรฐานให้แก้ไขทันที และเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA อย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้จัดทำรายงาน EIA ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เช่น กวดขันให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุกหรือรถอื่นๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง การล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งการควบคุมฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และเครือข่ายการทำงานแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะมุ่งมั่น ตั้งใจ และผลักดันร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี นำกรุงเทพมหานครสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนของประเทศไปพร้อมกับการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองปลอดภัย น่าอยู่ และยั่งยืนสำหรับทุกคน