กรมอนามัย ยันวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี ฝังยาคุมกำเนิดได้ ไม่ต้องขอพ่อแม่ ย้ำ รพ. คลินิกวัยรุ่นทำตามมาตรฐาน ส่วน นร.ท้องหลุดระบบการศึกษา ต้องค่อยขยายความพร้อมให้ ร.ร.เพิ่มขึ้นเผยจัดทำฐานข้อมูลใหม่ ช่วยติดตามวัยรุ่นท้องหลุดระบบการศึกษาหรือไม่ได้
จากกรณีข้อมูลของสายด่วน 1663 ระบุว่า คนท้องไม่พร้อมและต้องการคำปรึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังมีการละเมิดสิทธิตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ทั้งเรื่องการให้ออกจากโรงเรียน หรือการรับบริการฝังยาคุม ที่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมก่อน ทั้งที่วัยรุ่นมีสิทธิดำเนินการเองได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องฝังยาคุมกำเนิด จริงๆ แล้วกรมฯ มีการทำคู่มือมาตรฐานเอาไว้แล้วว่า หากวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คืออายุตั้งแต่ 10-20 ปีขอใช้สิทธิรับบริการก็สามารถดำเนินการให้ได้ โดยที่วัยรุ่นไม่ต้องไปขออนุญาตผู้ปกครอง ซึ่งเข้าใจว่า ผู้ดำเนินการบางส่วนอาจกังวลเรื่องของผิดระเบียบอะไรหรือไม่ ก็คงต้องไปย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ดำเนินการได้เลย ซึ่งการใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะมี 2 ส่วน คือ เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมาขอรับบริการ และกลุ่มที่ตั้งครรภ์และคลอดแล้วใช้ยาฝังคุมกำเนิดเพื่อป้องกันตั้งครรภ์ซ้ำ อย่างไรก็ตาม เรื่องการทำงานด้านท้องในวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วหรือเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ มองว่าการประสานครอบครัวมาร่วมกันหารือและตัดสินใจยังเป็นเรื่องสำคัญ ในการมีสว่นร่วมรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดกับลูกของตัวเอง
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับเรื่องการไม่ได้ศึกษาต่อเป็นเรื่องที่ต้องทำในระดับพื้นที่ เพราะแม้จะมีกฎกระทรวงศึกษาธิกาในเรื่องนี้ออกมาแล้วก็ตาม แต่ก็ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละโรงเรียน ซึ่งหากโรงเรียนไม่มีความพร้อมในการดูแลนักเรียนที่ตั้งครรภ์ ก็เหมือนเป็นการบีบให้เด็กออกจากระบบโดยกลายๆ ดังนั้น ก้มีการหารือกันว่า ในหนึ่งจังหวัดอย่างน้อยจะต้องมีโรงเรียน 1 แห่งที่มีความพร้อมในการรองรับดูแลเด็กที่ตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้คาดหวังว่าทุกโรงเรียนจะสามารถทำได้ แต่ต้องค่อยๆ ขยับทำงานเป็นเครือข่ายให้มีโรงเรียนที่มีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นต่อไป
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องของการติดตามว่า เด็กที่ตั้งครรภ์จะหลุดจากระบบการศึกษาหรือไม่นั้น ขณะนี้กรมฯ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลใหม่ เพื่อให้เกิดการติดตามในระดับพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนฐานข้อมูลจะเป็นการคลอดของวัยรุ่นอยู่ในพื้นที่ใด แต่อาจไม่ตรงกับพื้นที่ตอนที่ตั้งครรภ์อยู่ จึงรวบรวมข้อมูลทั้งจากกรมอนามัย การฝากครรภ์ในโรงพยาบาล รวมไปถึงเครือข่ายเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่างๆ ในองค์กรภาคประชาสังคม ทำให้เกิดข้อมูลถึงระดับตำบล อำเภอว่า เด็กที่ตั้งครรภ์อยู่ในพื้นที่ใด แต่อาจจะไม่รวมถึงเด็กที่ไปยุติการตั้งครรภ์นอกระบบก่อนแล้ว ตรงนี้ยังหลุดรอดอยู่ แต่เมื่อได้ข้อมูลเช่นนี้แล้วก็สามารถหาร่องรอยและไปติดตามได้ว่า เด็กตั้งครรภ์รายนี้ยังได้รับการศึกษาอยู่หรือไม่อย่างไร เพื่อติดตามวางแผนการดูแลช่วยเหลือได้