ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯ จัดสวัสดิการให้แม่วัยรุ่น (อายุไม่เกิน 20 ปี) พร้อมอนุมัติเงินกู้ให้โครงการฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง 51.7 ล้าน เห็นชอบแก้นิยามวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
วันนี้ (26 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ... เพื่อให้ไปเป็นตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงการจัดสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. .... ได้กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิการสังคมและให้บริการด้านต่างๆ แก่แม่วัยรุ่น ดังนี้ 1. กำหนดให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการฝึกอาชีพหรือจัดหาที่ฝึกอาชีพให้แก่แม่วัยรุ่นที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัด 2. กำหนดให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนจัดหาผู้ประสงค์ที่จะรับเลี้ยงดูบุตรของแม่วัยรุ่นเป็นการชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ครอบครัวทดแทนในกรณีที่แม่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ 3. กำหนดให้มีการบริการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่วัยรุ่นและครอบครัว จัดหาที่พักที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แม่วัยรุ่นได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม
รวมทั้งร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดการทำงานเชิงรุก โดยส่งเสริมสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชนทุกระดับสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพื่อเป็นแกนนำป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ รวมถึงบริการและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และเฝ้าระวัง ทั้งนี้ กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 60 วัน หลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบให้องค์การส่งเสริมการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ค.ส.) ยืมเงินจำนวน 51.7 ล้านบาท จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับลงทุนในการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ เป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยี (เช่น การสแกนเบอร์โคเพื่อเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบรีดนมแบบไปป์ไลน์ที่บันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (การจัดของเสียในฟาร์ม) และคำนึงถึงการกินอยู่ของแม่โคตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและการสร้างบุคคลากรมืออาชีพในการเลี้ยงโคนม ปีละไม่น้อยกว่า 680 คน เป้าหมายระยะยาวของโครงการฯ คือ เกษตรกรนำความรู้จากการมาเยี่ยมชมและอบรมไปใช้ในการจัดการฟาร์มของตนเองจะสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการเลี้ยงโคนมได้ คาดว่าภายในสิ้นปีหน้าโครงการจะเริ่มดำเนินการ และมีระยะเวลาโครงการ 15 ปี
คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ... เป็นการปรับแก้คำนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดย่อม โดยยังคงใช้เกณฑ์จำนวนลูกจ้างแต่เปลี่ยนจากเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินมาเป็นเกณฑ์รายได้ของวิสาหกิจ ในการกำหนดขนาดกิจการและแบ่งกิจการออกเป็นประเภทการผลิตสินค้า ประเภทการให้บริการ ประเภทการค้าส่งและประเภทการค้าปลีก เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย SME ในการส่งเสริมและช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
รายละเอียดของนิยามที่ปรับแก้ใหม่มีดังนี้
วิสาหกิจรายย่อย ประเภทการผลิตสินค้าและประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท
วิสาหกิจขนาดย่อม ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 6-50 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-100 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 6-30 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-50 ล้านบาท
วิสาหกิจขนาดกลาง ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 51-200 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 100-500 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 31-100 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50-300 ล้านบาท
ทั้งนี้ จำนวนลูกจ้าง ให้พิจารณาจากหลักฐานแสดงจำนวนลูกจ้างที่ได้จัดทำขึ้นตามกฎหมาย และจำนวนรายได้ ให้พิจารณาจากรายได้รวมที่ระบุไว้ในงบการเงินที่จัดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีกำหนดหรือเอกสารบัญชีแสดงรายได้ ส่วนกรณีที่กิจการมีจำนวนลูกจ้างเข้าเกณฑ์นิยามวิสาหกิจประเภทหนึ่งแต่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ ให้ยึดรายได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา