หลายครั้งที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่ที่รู้สึกเป็นทุกข์ใจได้เข้ามาพูดคุย ขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรดีกับความเห็นที่ไม่ตรงกันภายในครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลลูก ซึ่งเรื่องที่ดูไม่น่าจะมีปัญหานี้กลับกลายเป็นปัญหาโลกแตกและเป็นระเบิดเวลาสำหรับในครอบครัวของใครหลายคน
การที่คนสองคนตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความรักมักมีภูมิหลังทางครอบครัว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิตที่แตกต่างกันมาก่อน จึงอาจทำให้มีมุมมองและความเห็นที่ไม่เหมือนกันในหลายๆเรื่อง บ่อยครั้งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่กันและลุกลามบานปลายจนบั่นทอนความมั่นคงของครอบครัวไปโดยปริยาย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความไม่ลงรอยกันภายในบ้านซึ่งหลายคนละเลยหรือคาดไม่ถึงก็คือ ความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดที่อยู่และวิธีการเลี้ยงดู การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบ การดูแลความเป็นอยู่และอาหารการกิน การจัดเตรียมโรงเรียน กิจกรรมเสริมพิเศษและเส้นทางในอนาคตสำหรับเด็ก อาจรวมถึงการจัดสรรปันส่วนการเงินที่จะนำมาใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ความคิด ความเชื่อ ตลอดจนพื้นฐานและประสบการณ์ของแต่ละคน
เป็นที่น่าตกใจว่าในหลายกรณีที่คุณพ่อคุณแม่แปรเปลี่ยนความปรารถนาดีให้เกิดเป็นผลร้ายที่ตกอยู่กับตัวเด็ก การเลือกที่จะไม่ยอมรับมุมมองที่แตกต่างหรือโอนอ่อนผ่อนตามกันทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการปะทะโดยใช้คำพูดที่รุนแรงโต้เถียงกัน การแสดงสีหน้าท่าทางที่บ่งบอกความไม่พอใจ เพียงเพราะยึดถือว่าแนวทางและวิธีการของตัวเองจะเป็นประโยชน์ต่อลูกมากกว่านั้น มีแต่จะสร้างบรรยากาศที่กดดันและตึงเครียด ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญาต่อเด็กเลยแม้แต่น้อย บางกรณีครอบครัวต้องแตกแยก เกิดการหย่าร้างและปัญหาแย่งชิงอำนาจปกครองเด็กตามมา
เมื่อเด็กยังคงต้องเติบโตโดยอาศัยการสนับสนุนที่ดีของคนในครอบครัว บทบาทสำคัญของคุณพ่อคุณแม่ก็คือการปรับสมดุลเกี่ยวกับมุมมองและความคิดในชีวิตคู่ของตัวเอง ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการสร้างสมดุลชีวิตให้กับลูก เป็นประโยชน์ต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพและตัวตนที่จะติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ คำว่า “สมดุลชีวิต” ของเด็กอาจแตกต่างจากผู้ใหญ่อยู่บ้าง โดยมุ่งไปที่ พัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สติปัญญาและการเรียนรู้ ตลอดจนความสัมพันธ์ต่อครอบครัวและสังคม เป็นสำคัญ
สิ่งที่จำเป็นในการสร้างสมดุลชีวิตให้กับลูกจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการยัดเยียดบางสิ่งไม่ให้มากเกินไปและดูแลบางอย่างไม่ให้น้อยเกินไป ด้วยการที่คนในครอบครัวรับฟังและยอมรับในมุมมองที่แตกต่าง รู้จักโอนอ่อนผ่อนตามและร่วมมือกันหาจุดร่วมที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในแง่มุมที่หลากหลายและมีโอกาสได้ทดลองทำหลายๆสิ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมในการสร้างตัวตนที่ทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตัวเองควบคู่ไปกับการเคารพในความแตกต่างของผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีใครกำลังรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องเผชิญหน้ากับความเห็นต่างในการดูแลเด็กๆ ลองพิจารณา 5 ข้อคิดที่จะช่วยปรับความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อสร้างสมดุลชีวิตให้กับลูกได้ ดังต่อไปนี้
1.เปลี่ยนความคิดเสียใหม่...ลูกไม่ใช่ตุ๊กตา ในบางครอบครัวไม่ว่าลูกจะเติบโตไปเพียงใดก็ยังคงเห็นว่าเป็นเด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เสมอและคิดว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องดูแลจัดการทุกเรื่องในชีวิตของลูกจนรู้สึกเป็นเจ้าของชีวิตเด็ก กลับกลายเป็นว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างทำตัวเป็นเด็กทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงตุ๊กตามาจับวางตกแต่งให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการเสียเอง ปัญหาจึงไม่หยุดอยู่ที่ผู้ใหญ่แย่งของเล่นกัน แต่ยิ่งทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดที่ถูกตีกรอบและขาดโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
2.เคารพและให้เกียรติคู่ชีวิต โดยระลึกไว้เสมอว่าการสร้างครอบครัวจนมีลูกร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถทำได้ ต้องผ่านการเรียนรู้นิสัยใจคอและมอบความไว้วางใจจนมีความรักให้กันในที่สุด เมื่อตัดสินใจสร้างครอบครัวแล้วจึงต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน ไม่ดูถูกคู่ชีวิตโดยการคิดว่าตัวเองดีกว่าหรือเก่งกว่า สิ่งสำคัญคือ การทำหน้าที่ร่วมกันในการสร้างครอบครัวที่มั่นคงและเป็นสุขสำหรับลูก ซึ่งทำได้โดยใช้เหตุผลในการพูดคุยและรับฟัง รู้จักผ่อนหนักเบาเพื่อแสวงหาจุดที่สร้างความพอใจร่วมกัน
3.เปิดใจรับสิ่งที่แตกต่าง คนเรามักตัดสินสิ่งต่างๆจากความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นเคยถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร เคยเข้าเรียนที่ไหน มีความชอบและความสนใจเกี่ยวกับอะไร เมื่อเห็นว่าดีกับตัวเองอย่างไรก็พยายามหยิบยื่นให้ลูกโดยอาจหลงลืมไปว่าสิ่งที่มีนั้นเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกจากที่มีทั้งหมด ตรงกันข้าม หากให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองตามข้อเสนอหรือแนวทางของคุณพ่อบ้าง ของคุณแม่บ้างและจากที่เปิดใจค้นหาสิ่งใหม่ๆเพิ่มเติมบ้าง ก็จะยิ่งช่วยทำให้เกิดสมดุลจากการเรียนรู้ที่หลากหลาย
4.เมื่อเจอปัญหาให้ปรับใจตัวเอง เป็นเรื่องปกติของชีวิตครอบครัวที่จะต้องพบเจอปัญหาความไม่เข้าใจกัน หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดพลาดไปในบางครั้ง สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การกล่าวโทษเพื่อเอาชนะกัน หรือคิดว่าต้องทนอยู่จนแบกรับไม่ไหวและหนีปัญหาด้วยการหย่าร้าง แต่สิ่งที่ต้องทำคือ การให้อภัยกันและร่วมกันรับผิดชอบ พยายามทบทวนว่าตัวเองต้องการคุณพ่อคุณแม่อย่างไร ลูกก็ต้องการเช่นเดียวกัน ดังนั้น การทำหน้าที่ร่วมกันในฐานะพ่อแม่ด้วยการหากิจกรรมสร้างสัมพันธ์ครอบครัวย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า
5.หนักแน่นและเชื่อมั่นในชีวิตคู่ บ่อยครั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักนำปัญหาในบ้านไประบายภายนอก อาจคิดว่าได้พูดได้ฟังนิดหน่อยคงไม่เป็นไร แต่โดยมากกลับยิ่งทำให้รู้สึกไขว้เขวและขาดความเชื่อมั่น พาลรู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่มากขึ้นไปอีก ให้พึงระลึกเสมอว่าการกำหนดแนวทางการเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญเกินกว่าที่จะนำเอาความคิดหรือความหวังดีของคนภายนอกซึ่งไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบาง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวของตัวเองมาใช้ประกอบการตัดสินใจ
บนพื้นฐานที่คุณพ่อคุณแม่ต่างมีความมุ่งหวังที่ดีให้กับลูก สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการเปลี่ยนความหวังดีเป็นผลร้ายเพียงเพราะไม่เข้าใจกันและไม่มีใครยอมใคร การปรับความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสมดุลชีวิตที่ลูกต้องการ เป็นครอบครัวที่จะช่วยสนับสนุนชีวิตในทุกๆด้านให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและเป็นสุข