xs
xsm
sm
md
lg

การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)เชื้อโรคร้ายในสังคมยุคใหม่/ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยคิดมั้ยว่าทำไมคนเราแม้ไม่เคยรู้จักกันถึงมีเรื่องให้ต้องทะเลาะกันได้ ที่สำคัญบ่อยครั้งยังดึงคนอื่นเข้ามารับรู้และเกี่ยวข้องจนขยายความรู้สึกไม่พอใจกันจากคนเพียงสองคนไปสู่กลุ่มคนในวงกว้าง คำตอบง่ายๆคือ เพราะคุณไม่ใช่พวกของเรายังไงล่ะ!

ลักษณะสำคัญตามธรรมชาติของคนคือการรวมกลุ่มทางสังคม และสิ่งที่จะทำให้กลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกันรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยหรือสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ก็คือ ความรู้สึกรักพวกพ้องและแบ่งแยกคนที่แตกต่างออกไปโดยพยายามกดไว้ไม่ให้ก้าวขึ้นมาอยู่เหนือกว่าพวกตัวเองได้ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการสร้างความเกลียดชังคือจุดที่รู้สึกว่ามีใครสักคนที่มีความแตกต่างไปจากการยอมรับของกลุ่มตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ การกระทำ หรือแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานอย่างรูปร่าง หน้าตา เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนชาติกำเนิด การสร้างความเกลียดชังในลักษณะนี้ถูกบ่มเพาะอยู่ในสังคมมาเนิ่นนานและเกิดเป็นเชื้อโรคร้ายที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมยุคใหม่

ด้วยความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารเพื่อส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ประกอบกับพื้นที่ที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลาของโลกยุคดิจิทัล ทำให้การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ในปัจจุบันนิยมส่งสารทั้งโดยการใช้คำพูด ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว บทเพลงหรือตราสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงการมีอคติ การดูถูกเหยียดหยามและด้อยค่าคนอื่นผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ผิดๆโดยมุ่งหวังที่จะชักจูงและยุยงให้เกิดการแบ่งแยก มีความรู้สึกเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อกลุ่มคนที่แตกต่าง

สิ่งที่ตามมาจากการประทับตราผู้อื่นทางลบคือ ความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยเมื่อมีคนที่แปลกแยกเข้ามาอยู่ร่วมในกลุ่มได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง คนจำนวนมากอาจถูกชี้นำให้มีอารมณ์ร่วมและเข้าใจว่าสังคมจะดีขึ้นได้หากกำจัดคนที่แตกต่างออกไปจากกลุ่ม ทำให้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ในทางตรงกันข้าม ผู้ถูกประทับตราก็ต้องแบกรับความบอบช้ำทางใจอย่างหนักหน่วง เกิดความทุกข์และเศร้าเสียใจ หรือแม้แต่คับแค้นใจจนต้องการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

เนื่องจากสังคมในโลกยุคปัจจุบันมีความสัมพันธ์ที่โยงใยสลับซับซ้อนขึ้นมากจนเกินกว่าความเชื่อเดิมที่เคยมีว่าการแบ่งแยกและกดดันคนที่แตกต่างเอาไว้จะทำให้กลุ่มเติบโตได้อย่างมั่นคง ตรงกันข้าม เรากลับต้องการพึ่งพิงความหลากหลายของผู้คนที่จะมาร่วมกันพาสังคมไปข้างหน้ามากกว่าที่จะจมอยู่ในวังวนของความเกลียดชังในสังคมที่แตกแยกจากคำพูดหรือข้อความที่ทิ่มแทงใจของกันและกัน

คำถามที่ตามมาคือ เราจะรับมือและแก้ไขปรากฏการณ์การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?

1.ในส่วนของการรับมือนั้นจำเป็นต้องเริ่มจากตัวเราในฐานะหน่วยเล็กที่สุดของสังคม เนื่องจากการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อมีการส่งต่อข้อมูลขยายออกไปในวงกว้างจนสังคมมีภาพการรับรู้ถึงการแบ่งแยกและด้อยค่าผู้อื่นไปในทิศทางเดียวกัน การรู้เท่าทันความมุ่งหวังของผู้กระจายข้อมูลข่าวสารจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่จะยับยั้งผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำได้โดยการใช้สติและเหตุผลในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับอย่างถี่ถ้วนทุกครั้ง

2.การเปิดใจกว้างเพื่อทำความเข้าใจในความแตกต่างและยอมรับในสิ่งที่แต่ละคนเป็นจะช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและเคารพในสิทธิที่แต่ละคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกันนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น อันจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสังคมที่มั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความเจ็บช้ำน้ำใจที่มีต่อกัน

3.การป้องกันและแก้ไขการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะถูกชักจูงจากสื่อต่างๆไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้มาก เนื่องจากเยาวชนเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มักมีทักษะและสามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดด้านวุฒิภาวะในการพิจารณาและการตัดสินใจในประเด็นต่างๆอย่างถี่ถ้วน ด้วยช่วงวัยที่ยังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา

เยาวชนยังเป็นช่วงวัยที่พยายามสร้างตัวตนและการยอมรับจากคนรอบตัว จึงอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือต้องการเป็นที่สนใจ ทำตัวให้โดดเด่นเพื่อให้คนอื่นเห็นคุณค่าโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ การเรียนรู้เพื่อสั่งสมประสบการณ์และการวางรากฐานในการพัฒนาความรู้คิดด้วยการปลูกฝังที่ดีจากผู้ปกครองจะเป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกใช้เป็นเครื่องมือจากผู้ไม่หวังดี ทำการยุยง ปลุกปั่นหรือชักนำให้ไปขยายข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยกในสังคมได้อีกทางหนึ่ง

คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของการดำเนินชีวิตประจำวัน การเข้ากลุ่มทางสังคม ตลอดจนการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมอยู่เสมอ รวมทั้งช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่ดีด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง โดยเปิดโอกาสและช่องทางให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังและทำความเข้าใจผู้อื่นเสมอ เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนการใช้เหตุผลและความอดทนในการรับมือกับสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิต

บ่อยครั้งที่เราคอยแต่วิตกกังวลถึงความรุนแรงในสังคมโดยหลงลืมไปว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำพูดและข้อความที่ทิ่มแทงใจซึ่งกันและกัน ความตระหนักถึงและร่วมกันรับมือกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรคร้ายที่คอยกัดกินสังคมได้อย่างถูกต้องจะช่วยจรรโลงสังคมให้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่สำหรับทุกคนได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น