อย.เผยสถิติปีงบ 62 ตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบผิด กม. 1,570 รายการ ร้องเรียนรวม 1,750 เรื่อง พบเป็นเรื่องอาหารมากที่สุด สั่งระงับการโฆษณา เปรียบเทียบปรับ ทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดี รวม 1,724,000 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวม 18 ล้านบาท
วันนี้ (30 พ.ย.) ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ว่า ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 - 30 ก.ย. 2562 ได้เฝ้าระวังและตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 24,482 รายการ พบโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย 1,570 รายการ และพบการร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกช่องทางของ อย. ทั้งหมด 1,750 เรื่อง โดยพบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด 930 เรื่อง รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ยา 300 เรื่อง และ เครื่องสำอาง 257 เรื่อง โดยประเด็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดถึง 451 เรื่อง และได้มีการสั่งระงับการโฆษณา ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดทั้งเจ้าของสื่อ ผู้โฆษณา เจ้าของผลิตภัณฑ์ และพรีเซนเตอร์ จำนวน 280 คดีค่าปรับรวม 1,724,000 บาท ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 1,395 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 18,802,200 บาท
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา ป้องกัน หรือรักษาโรคได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบการโฆษณาเกินจริงในหลายลักษณะ เช่น ลดน้ำหนักสัดส่วนได้รวดเร็ว รักษาได้สารพัดโรค เป็นยาอายุวัฒนะที่อัศจรรย์ ส่วนผลิตภัณฑ์ยา อย. ไม่อนุญาตให้จำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ และมักพบการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคร้ายแรงได้หายขาดยอดเยี่ยม โดยอาจมีผู้แอบอ้างเป็นแพทย์ออกมาให้คำรับรองยืนยันว่าเป็นความจริง สำหรับเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก เพื่อความสะอาดและสวยงามเท่านั้น ก็มักพบการโฆษณาว่าช่วยรักษา ฝ้า - กระ ลดสิว ทำให้หน้าขาวใสถาวร กระชับผิว ลบริ้วรอย ขยายอก เป็นต้น
"หากพบการโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือมีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภคให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ทั้งการเปรียบเทียบปรับ ดำเนินคดี และแจ้งให้เจ้าของผลิตภัณฑ์และสื่อโฆษณาระงับการโฆษณาทันที พร้อมกันนี้ยังส่งเรื่องต่อไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. ในการระงับ,เปรียบเทียบปรับสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ กระทรวงดีอี ระงับ/ปิดกั้นเว็บไซต์ บก.ปคบ. ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ สคบ. กรณีการเรียกร้องค่าเสียหาย การดำเนินธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรง เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ได้มีการเฝ้าระวังข่าวสาร และ การแจ้งเตือนจากต่างประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับอี - มาร์เก็ตเพลสในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายบนหน้าเว็บไซต์ของตนด้วย" ภญ.สุภัทรากล่าว