อย.จับกุม "เยลลีผสมกัญชา" พร้อมน้ำมันซีบีดี เครื่องสำอาง-บุหรี่ไฟฟ้าผสมกัญชา รวมกว่า 10 ล้านบาท เอาโทษหนักทั้งจำทั้งปรับฐานนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต ชี้ผลิตภัณฑ์ผสมซีบีดีถูกกฎหมาย ต้องกฎกระทรวงกัญชงเปิดช่อง แต่เฉพาะผลิตในประเทศ ห้ามนำเข้า 5 ปี บก.ปคบ.เผยลักลอบนำเข้าผ่านชิปปิง เล็งขยายผลคนร่วมขบวนการ
วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวขยายผลจับเยลลีผสมกัญชาและรวบแม่ค้าออนไลน์ขายยาชุดลดความอ้วน ว่า หลังจากมีข่าวการขายเยลลีผสมกัญชา อย.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ริโภค (บก.ปคบ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ ขยายผลโดยการตรวจค้นบ้านเลขที่ 178/712 หมู่ 7 ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบเยลลีผสมกัญชาและบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง จึงขยายผลไปยังบ้านเลขที่ 399/72 หมู่บ้านปาจารีย์ หมู่ 1 ในตำบลเดียวกัน พบของกลางเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุเสพติดที่มีส่วนผสมของกัญชาจำนวนมาก คือ ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเยลลี่และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมกัญชา รวมกว่า 300 ชิ้น น้ำมันซีบีดีรวมกว่า 900 ขวด ผลิตภัณฑ์ยาประเภทเยลลี่ผสมยาแผนปัจจุบัน 130 กระปุก แผ่นบรรเทาอาการปวด 6 ซอง ผลิตภัณฑ์ยาสัตว์ 27 ขวด เครื่องสำอางประเภทมาสก์หน้า 86 ซอง ประเภทครีม 43 ขวด รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำมันบุหรี่ไฟฟ้าผสมกัญชา รวมทั้งหมดกว่า 1,500 ชิ้น มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย.ได้ยึดของกลางส่ง บก.ปคบ. และนำผลิตภัณฑ์ส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่ามีส่วนผสมของสารสกัดกัญชาจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงแสดงว่าเป็นกัญชา ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ก็จะมีความผิดการนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนผู้จำหน่ายและครอบครอง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่น - 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามขายตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท
"ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอันตราย เพราะเราไม่รู้เลยว่าสารสกัดกัญชาที่ผสมอยู่นั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทีเอชซี หรือซีบีดี หากรับเข้าไปโดยไม่ทราบขนาดก็เกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นที่มีส่วนผสมของกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่สามารถซื้อขายทางออนไลน์ได้ แต่หากต้องการนำสารซีบีดีมาผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ คงต้องการผลักดันร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ผ่านคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบก็จะเสนอไปยังคณะกรรมกฤษฎีกาพิจารณาและกลับมายัง ครม.เพื่อประกาศใช้ ซึ่งจะเปิดช่องให้นำสารซีบีดีในกัญชง โดยตามประกาศ คือ ต้องผลิตในประเทศเท่านั้น และทีเอชซีน้อยกว่า 0.2 ถึงจะไม่เป็นยาเสพติด ก็จะสามารถนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งก็เป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึง และช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ยังจำกัดเฉพาะการผลิตในประเทศไทย ห้ามนำเข้าเป็นเวลา 5 ปี" นพ.ไพศาลกล่าว
นพ.ไพศาล กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเหล่านี้ ได้กำชับให้ด่านอาหารปละยามีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น และทำงานร่วมกับด่านศุลกากรในการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลจับกุมยาชุดลดความอ้วนที่ จ.ราชบุรี 2 จุด โดยจุดแรกเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ เพราะยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีเพราะตรวจพบสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยพบยาชุดบรรจุซอง 2 ชุด ชุดละ 2 ซอง จุดที่สองขยายผลมาจากจ.ระยอง พบยาชุดลดความอ้วนและยาแผนปัจจุบันหลายรายการบรรจุกล่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Slim Plus ซึ่งไม่มีเลขสารบบอาหาร จำนวน 900 กล่อง จึงได้ส่งตรวจกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแจ้งข้อหาขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ขายยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขายยาชุด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีไซบูทรามีน ถือเป้นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1 ผู้ผิต นำเข้าส่งออก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 5 แสน - 2 ล้านบาท หากขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสน - 2 ล้านบาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ในส่วนของผู้ขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชา เป็นชายหนุ่มอายุ 30 ปี ชื่อ นายนิธิศ เมธิยานนท์ ซึ่งจากการสอบสวนผู้ต้องหาสารภาพว่า ได้นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา จากกระบวนการที่ดำเนินการเช่อว่าไม่น่าจะหิ้วของเข้ามา เพราะมีจำนวนมาก น่าจะเป็นการชิปปิงเข้ามา โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี โดยมีการนำมาโฆษณาและขายผ่านทางเว็บไซต์ สยามซีบีดี ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไป โดยจากการตรวจสอบบัญชีพบว่า เดือนหนึ่งมียอดขายเป็นล้านบาท และรายวันก็มีรายการขายที่จะส่งเป็น 10 รายการ ส่วนจะมีผู้ร่วมขบวนการในส่วนอื่นอีกหรือไม่อยู่ระหว่างการขยายผลสอบสวน ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด