xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรเผยผลจัดเก็บรายได้เดือน ต.ค.62 ต่ำเป้า 99 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลจัดเก็บรายได้เดือนแรกของกรมศุลกากรในปีงบฯ 63 มีทั้งสิ้น 8.7 พันล้านบาท ต่ำเป้า 99 ล้านบาท หรือราว 1.1% ส่วนผลจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะมีทั้งสิ้นกว่า 2.8 พันคดี มีมูลค่ารวม 195 ล้านบาท โดยมีการตรวจยึดใบ KHAT ที่ส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศจากเอธิโอเปียโดยอาศัยไทยเป็นทางผ่าน รวม 79 หีบห่อ น้ำหนักรวม 687 กิโลกรัม มูลค่ารวม 6.8 ล้านบาท พร้อมยังเข้าตรวจยึดเครื่องสำอางเกาหลีปลอมกว่าหมื่นชิ้น มูลค่าราว 1 ล้านบาทอีกด้วย

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงผลการจัดเก็บรายได้ประจำเดือน ต.ค.62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 63 ว่า กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 52,192 ล้านบาท ทั้งนี้ ประกอบไปด้วยรายได้ศุลกากรซึ่งจัดเก็บได้ จำนวน 8,701 ล้านบาท โดยต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 99 ล้านบาท หรือราว 1.1% และรายได้ที่กรมศุลกากรจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่นๆ อีก 43,491 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงผลการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรในเดือน ต.ค.62 ว่า มีทั้งสิ้น 2,837 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 195 ล้านบาท โดยเป็นจำนวนคดีจากการลักลอบ 18.1% คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 71% และเป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยงอีก 81.9% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีหลีกเลี่ยง 29% ทั้งนี้ มีสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภทโคคาอีน เมทแอมเฟตามีน และบุหรี่ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภท โคคาอีน และรถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากรได้ตรวจยึดใบของพืช KHAT ที่ส่งโดยพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ (ผ่านแดน) จากต้นทางประเทศเอธิโอเปียผ่านมายังประเทศไทย รวม 79 หีบห่อ น้ำหนักรวม 687.525 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 6,875,250 บาท สำหรับใบของพืช KHAT แท้ในบางประเทศจะถือเป็นของที่ถูกกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นพืชที่มีสารที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 และ 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นความผิดฐานนำวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้ามาหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดยการตรวจพบในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในปีงบฯ 63 หลังจากก่อนหน้าที่เคยพบการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการส่งของมาแล้วครั้งหนึ่ง

ส่วนการตรวจยึดสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ กรมศุลกากร ได้ทำการตรวจค้นบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ร้าง ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ พบกระสอบสีเขียววางทิ้งไว้ จึงได้ทำการเปิดตรวจสอบดู พบเสื้อคลุม กระเป๋า และผ้าปูที่นอนละเมิดเครื่องหมายการค้า มีเมืองกำเนิดต่างประเทศจำนวน 430 ชิ้น โดยไม่พบหลักฐานการผ่านพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด รวมมูลค่าของกลางทั้งสิ้นประมาณ 120,000 บาท นอกจากนี้ กรมศุลกรยังได้ตรวจค้นรถ 10 ล้อบรรทุกน้ำมัน จำนวน 2 คัน โดยพบน้ำมันดีเซล มีเมืองกำเนิดต่างประเทศที่ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น ปริมาณคันละ 16,000 ลิตร ปริมาณรวม 32,000 ลิตร รวมมูลค่าประมาณ 8 แสนบาท

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้เข้าตรวจยึดเครื่องสำอางปลอม โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.62 ได้รับประสานข้อมูลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี ผ่านทางสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) ว่า มีร้านค้าขายสินค้า lifestyle เกาหลี จำหน่ายเครื่องสำอางโดยแสดงเมืองกำเนิดและใช้ชื่อบริษัทผู้ผลิตอันเป็นเท็จ จากการตรวจค้นพบเครื่องสำอางมีการสำแดงชื่อบริษัทในประเทศเกาหลี และสำแดงเมืองกำเนิดเป็น Made in Korea กรมศุลกากรจึงได้เข้าทำการตรวจค้นร้านขายสินค้าดังกล่าว พร้อมด้วยเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าของบริษัทย่านบางพลี สมุทรปราการ สำหรับผลการตรวจสอบที่กรมศุลกากรร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี พบว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่ในประเทศเกาหลีจริง เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดสินค้ากว่า 30 รายการ รวมจำนวนกว่าหมื่นชิ้น มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ Mr.Yun Ha Cheong ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้เข้ามอบหนังสือขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ดีระหว่างกรมศุลกากรและสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ กรมศุลกากรไทยยังได้เข้าร่วมรับรางวัลจากที่มีผลงานดีเด่นในปฏิบัติการ Operation ICE BREAK ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรางวัลดังกล่าว สืบเนื่องมาจากในช่วงระหว่างวันที่ 6 พ.ค.-16 มิ.ย.62 กรมศุลกากรได้เข้าร่วมปฏิบัติการ Operation Mekong Dragon Asia Pacific ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงเมทแอมเฟตามีนที่มีแหล่งกำเนิดจากสามเหลี่ยมทองคำ โดยมีสำนักงานประสานงานการข่าวทางศุลกากรขององค์การศุลกากรโลกประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Regional Intelligence Liaison Office for Asia and the Pacific : RILO AP) ร่วมกับ Korea Customs Service : KCS เป็นผู้ประสานปฏิบัติการ และมีศุลกากรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเข้าร่วมปฏิบัติการจำนวน 22 ประเทศ จากผลความสำเร็จดังกล่าวทางสำนักงานประสานงานการข่าวทางศุลกากรขององค์การศุลกากรโลก ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Regional Intelligence Liaison Office for Asia and the Pacific : RILO AP) จึงได้พิจารณามอบรางวัลให้แก่ศุลกากรไทยในฐานะที่มีผลงานดีเด่นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น