xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ด้วยเทคนิค “4E” รักษา “หอบหืด” แบบไม่ต้องใช้ยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรคหืดสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดประมาณ 1 พันคนต่อวัน ส่วนประเทศไทยเสียชีวิตประมาณ 6 คนต่อวัน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรง โดยมีประมาณ 5% ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โดยเฉพาะในผู้ใหญ่จะต้องพ่นยาไปตลอดชีวิต ยกเว้นในเด็กที่รักษาแล้วพบว่า 80% สามารถหายขาดได้

ปัจจุบัน การรักษาโรคหอบหืด นอกจากการใช้ยาพ่นเมื่อมีอาการกำเริบแล้ว ยังมีการรักษาด้วยแนวทางอื่น เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด วัคซีนสำหรับคนไข้ที่รู้ว่าแพ้อะไร เช่น วัคซีนไรฝุ่น รวมถึงมีเทคโนโลยีอย่างการจี้ขยายหลอดลมด้วยไฟฟ้า เป็นต้น และที่น่าสนใจ คือ ผู้ป่วยที่ควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ ความถี่ในการใช้ยาจะน้อยลง


ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การรักษาโรคหอบหืดให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ไม่ใช่แค่อยู่ที่แพทย์ผู้รักษาเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะการปฏิบัติตน การปรับพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ชีวิต ถ้าสามารถทำได้ดี พบว่า จะช่วยให้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ มีการกำเริบน้อยลง จนสามารถใช้ชีวิตตามปกติ และใช้ยาพ่นเพื่อรักษาน้อยลงได้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้แนวทางนี้ในการช่วยรักษาให้ผู้ป่วยควบคุมอาการโรคได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ตนดำเนินการจะเน้นในเทคนิคที่เรียกว่า 4E

“ตอนที่คิดเรื่อง 4E นั้นเป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าดูแลคนไข้หอบหืดเยอะมาก ทำอย่างไรก็ไม่หาย ก็เลยพยายามหาสมการโดยไม่ใช้ยา เพราะตัวเองเป็นคนเน้นชอบเรื่องของการปรับไลฟ์สไตล์ ก็เลยค้นงานวิจัยมีคนพูดเยอะ ทั้งเรื่องของอาหารการกิน ออกกำลังกายต่างๆ แต่ยังไม่มีการนำมารวมกัน ตนจึงนำมารวมกันเป็น 4E คือ 1.Exercise หรือการออกกำลังกาย 2.Eating การรับประทานอาหาร 3.Environment สิ่งแวดล้อม และ 4.Emotion อารมณ์ความรู้สึก และนำมาทำวิจัยและลองใช้กับคนไข้ก็พบว่าได้ผล” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว


ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวว่า เคสที่ประทับใจที่สุดของการใช้ 4E ในการรักษาคนไข้ คือ รายของ น.ส.ศรีสกุล ฤทธิอินทร์ ซึ่งรายนี้เรียกได้ว่าแทบจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนักที่สุด เยอะที่สุด เพราะแทบจะออกจากบ้านไม่ได้ มีอาการหอบเยอะมาก แทบไม่เคยใช้ชีวิตแบบคนปกติ ซึ่งช่วงแรกก่อนมารักษากับตน ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด แต่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไอเรื้อรัง ซึ่งอาการจะคล้ายกัน แต่เมื่อมาวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนก็พบว่า เคสของ น.ส.ศรีสกุล มาแบบแพคใหญ่มาก คือ ทั้งโรคหอบหืด ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก และกรดไหลย้อน ซึ่งต้องทยอยรักษาอาการต่างๆ ไปด้วยกัน ต้องใช้ยาทุกตัวที่มีอยู่ ไปจนถึงยาที่แรงที่สุดแล้ว จนไม่มียาให้ปรับอีกแล้ว

“แต่สิ่งที่ประทับใจ คือ คุณศรีสกุล มีอาการดีขึ้นได้ เพราะทำตัวเอง โดยตอนนั้นจำได้ว่าช่วงในหลงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต คุณศรีสกุลอยากไปกราบพระบรมศพ แต่บอกว่าไม่มีโอกาสได้ไป เพราะออกจากบ้านไม่ได้ เนื่องจากอาการหนักมาก จึงใช้ทฤษฎีการรักษาที่ไม่ใช้ยา คือ 4E ซึ่งตอนนั้นสาเหตุที่ทำให้คุณศรีสกุลควบคุมอาการไม่ได้ เพราะภาวะอ้วน ซึ่งส่งผลต่ออาการและสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ซึ่งมาค้นพบว่า ที่บ้านมีอาการจุดธูป ซึ่งเมื่อปรับทั้งเรื่องของอาหาร ออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อม และอารมณ์แล้ว พบว่า อาการคุณศรีสกุลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการหอบน้อยลง จนความถี่ในการใช้ยาบรรเทาอาการลดลงเรียกว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนทุกวันนี้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้” ศ.พญ.อรพรรณ กล่าว


สำหรับเทคนิค 4E ต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไรบ้างนั้น ศ.พญ.อรพรรณ อธิบายว่า 1.Exercise หรือออกกำลังกาย เป็นเรื่องที่ได้ผลดีต่อทุกคน แต่ทุกคนไม่ค่อยทำ และมักเกิดความเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดออกกำลังกายไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ คนเป็นหอบหืดยิ่งต้องออกกำลังกาย แต่ว่าถ้าออกไม่ได้เพราะมีอาการหอบ ก็จะมีการหาวิธีทำให้คนไข้ออกกำลังกายได้ ด้วยการปรับยาพ่นขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกาย 15 นาทีก็จะทำให้สามารถออกกำลังกายได้

2.Eating หรืออาหาร ต้องบอกว่า ภาวะอ้วนมีการศึกษาชัดเจนว่า คนอ้วนจะเป็นโรคภูมิแพ้หอบหืดได้ เนื่องจากความอ้วนปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจากหลอดลมไม่อักเสบเป็นอักเสบและมีความไว ทำให้เกิดโรคขึ้นได้ ซึ่งบางคนไม่มีปัจจัยครอบครัวเลย แต่เพราะอ้วนทำให้เป็นโรคหอบหืด และถ้าอ้วนแล้วเป็นหอบหืดแล้วจะรักษายาก เพราะจะดื้อยาสเตียรอยด์ นอกจากนี้ จะพบโรคร่วมคือกรดไหลย้อน นอนกรน หายใจอุดกั้นที่ทำให้หอบกำเริบอีก ดังนั้น จึงต้องมีการปรับอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย เพื่อลดภาวะอ้วนลงหรือลดน้ำหนักลง ก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคหอบหืดได้ดีขึ้น


ดังนั้น จึงควรรับประทานที่มีแอนตีออกซิแดนท์ เช่น ผักผลไม้ ควรเป็นครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร และลดพวกแป้งลง และทานไขมันชนิดดี ซึ่งไขมันจากพืชและปลาจะเป็นไขมันที่ดีมาก แต่ถ้าคนไข้แพ้อาหารก็หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ แต่ถ้าไม่แพ้ก็ใช้วิธีทานโดยคำนวณสัดส่วนอาหาร

3.Environment สิ่งแวดล้อม ตรงนี้ต้องเลี่ยงสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น บุหรี่ ฝุ่น ควันต่างๆ หรือบางคนแพ้ไรฝุ่น ขนสัตว์ ละอองเกสร เป็นต้น หากสามารถเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดการเกิดอาการและควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาวะขาดวิตามินดี ซึ่งปัจจุบันคนไทยขาดวิตามินดีเยอะ เพราะว่าชอบอยู่ในที่ร่ม ชอบหน้าใสหน้าขาว ซึ่งมีงานวิจัยว่า วิตามินดีมีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ซึ่งเป้นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด

4.Emotion หรืออารมณ์ความรู้สึก ซึ่งปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่คนชอบลืม คือ ภาวะเครียด ซึมเศร้า พวกนี้มีผลกระทบต่อการเกิดโรคอย่างมาก แล้วเป็นมิติที่คนไข้และหมอชอบลืมว่ามีผลกระทบ การทำให้อารมณ์ดี ไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น อย่างกรณีคุณศรีสกุล ตอนนั้นก็เครียดมาก แต่เมื่อปรับเรื่องของอารมณ์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งอาหาร ออกกำลังกาย และสิ่งแวดล้อม ก็พบว่าดีขึ้นทุกอย่าง


ด้าน น.ส.ศรีสกุล ฤทธิอินทร์ หรือแขก ผู้ป่วยโรคหอบหืด กล่าวว่า ตอนแรกไม่คิดว่าตนจะเป็นโรคหอบหืด คิดว่าเป็นหวัดธรรมดา มีอาการไอ แต่ตอนหลังไอหนักเข้า ซึ่งแพทย์ก็วินิจฉัยว่าเป็นหอบแต่เป็นหวัดเรื้อรัง ซึ่งตอนนั้นก็ไอจนหลอดลมตีบ และมีอาการหอบอย่างมาก ซึ่งรุนแรงจนไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานได้ ซึ่งที่บ้านก็ให้ลาออกจากงาน แต่ตอนหลังใช้สิทธิบัตรทองและมีโอกาสมารับการรักษาจาก ศ.พญ.อรพรรณ จึงทราบว่าเป็นโรคหอบหืด และมีโรคร่วมอื่นด้วย ทั้งไซนัส กรดไหลย้อน และริดสีดวงจมูก ก็ค่อยๆ รักษา และมีการใช้เทคนิค 4E ในการช่วยปรับพฤติกรรมชีวิตประจำวัน

น.ส.ศรีสกุล กล่าวว่า ตนทำตาม 4E ทุกข้อ เมื่อก่อนตนมีภาวะอ้วน น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ก็หันมาออกกำลังกายตามที่คุณหมอแนะนำ แรกๆ ออกกำลังกายได้ประมาณ 10-15 นาที และต้องมีการใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อพ่นยาก่นไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป ซึ่งหลังจากที่ออกกำลังกายมาเรื่อยๆ ก็สามารถเพิ่มได้เป็นวันละ 30-45 นาที หลังๆ มาประมาณ 3 เดือน ก็สามารถออกกำลังกายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องพ่นยาช่วยก่อนออกกำลังกายอีก สุดท้ายก็ออกกำลังกายควบคุมอาหารมาแบบนี้ประมาณ 2 ปี น้ำหนักก็ลดลง ตอนนี้เหลือประมาณ 48 กิโลกรัม ส่วนตอนแรกๆ มีความเศร้ามากกับการที่ป่วยไม่หาย ก็ต้องปรับอารมณ์ปรับความรู้สึกตัวเองไม่ให้เครียดและเศร้า รวมถึงเลี่ยงเรื่องการจุดธูปที่บ้าน สุดท้ายอาการทุกอย่างดีขึ้น ถือว่าร่างกายตนเปลี่ยนไปอย่างมาก แทบไม่ต้องใช้ยาพ่นเลย และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

“อยากฝากว่า คนที่มีอาการไอเรื้อรัง ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เพราะหากรับการรักษาช้า อาการจะยิ่งรุนแรงเหมือนตน แต่สำหรับคนที่ป่วยแล้ว แนะนำว่า การใช้เทคนิค 4E สามารถช่วยให้อาการหอบหืดดีขึ้นได้ ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น และอยากให้ทุกคนปฏิบัติตาม เพราะโรคนี้แม้จะไม่หาย แต่เมื่อเข้าใจธรรมชาติของโรค เน้นการป้องกัน ก็สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาหรือใช้ยาน้อยลงอย่างมาก” น.ส.ศรีสกุล กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น