กพย. สสส. จับมือ สธ. องค์การอนามัยโลก และภาคีเครือข่าย รณรงค์ใช้ยาปฏิชีวนะถูกวิธี “แบคทีเรียหรือไวรัส เช็กให้ชัดก่อนกินยาปฏิชีวนะ” เร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ บรรลุยุทธศาสตร์ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ด้าน WHO ชื่นชมไทยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาได้ดีและต่อเนื่อง
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2562 เพื่อรณรงค์ความตระหนักรู้การใช้ยาต้านแบคทีเรียผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุม UN High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกขององค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ทางคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ปี 2560-2564 โดยมีวิสัยทัศน์ลดการป่วย การตาย และการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา
ดร.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับปัญหาเชื้อดื้อยา โดยปีนี้มีประเด็นการรณรงค์คือ “อนาคตของยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับเราทุกคน” โดยเน้นการกระทำที่ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ได้แก่ การล้างมือหรือทำความสะอาดมือที่เหมาะสม ช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ และลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งทำให้การดื้อยาปฏิชีวนะอยู่ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังแนะนำเรื่องสุขอนามัยในช่องปากที่ดี มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย และให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรในการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมทั้งยังได้ชื่นชมประเทศไทยถึงการทำงานเรื่องการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมาอย่างดียิ่งและต่อเนื่อง
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะการเสริมความความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องในโรคที่พบบ่อย เช่นเป็นหวัดเจ็บคอ โดยในปีนี้ สสส.สนับสนุนการจัดทำและเผยแพร่สื่อสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2562 เป็นสัปดาห์รณรงค์ แต่ สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเตรียมแผนการสื่อสารต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยหวังว่าจะสร้างความตื่นตัวในหมู่ประชาชน รวมทั้งคาดหวังให้บุคลากรสุขภาพใช้ประเด็น “แบคทีเรียหรือไวรัส เช็กให้ชัดก่อนกินยาปฏิชีวนะ” เป็นหัวข้อในการพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะที่สมเหตุผล เพราะไข้หวัดเจ็บคอมากกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาต้านแบคทีเรีย นอกจากไม่ช่วยให้หายแล้ว ยังจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย
นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทั่งสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นได้ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 250 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรคหวัด อุจาระร่วง และแผลสะอาด ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางสาธารณสุข ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานภาคการเกษตรและปศุสัตว์ ภายใต้แนวคิด one health หรือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และบุคลากรจากหลากหลายสาขา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 7 ซึ่งนอกจากกพย.จะสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในหมู่ประชาชนให้ตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ยังขยายเครือข่ายการทำงานออกไปยังด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เช่นการไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืช และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน โดยกพย.ได้จัดทำสื่อให้ความรู้ความเข้าใจ ร่วมกับการสนับสนุนการทำงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยการรณรงค์ในปีนี้มุ่งให้ความรู้ในการแยกแยะและตรวจสอบเบื้องต้น เกี่ยวกับอาการป่วย หวัด ไอ ว่าเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร ก่อนจะเริ่มใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ
สำหรับผู้ที่สนใจสื่อความรู้เชื้อดื้อยา สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness