สมาคมปราบวัณโรคฯ พร้อมให้ทุน TB Grant พัฒนานวัตกรรมการควบคุมวัณโรค 3 ทุน ทุนละ 3 แสนบาท หวังหนุนภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมพัฒนานวัตกรรมคุมวัณโรคให้เหมาะสมกับพื้นที่ ด้าน สธ.รุกแผนควบคุมวัณโรค 5 ปี ตั้งเป้าลดอัตราป่วยให้เหลือ 88 คนต่อแสนประชากร ขณะที่ กทม.ทำศูนย์ส่งต่อวัณโรคกำกับการกินยารักษาต่อเนื่อง
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานเสวนาสื่อ หัวข้อ “โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคฯ กล่าวว่า สมาคมปราบวัณโรคฯ ให้ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการดูแลและควบคุมวัณโรค ปี 2561 (TB Grant 2018) เพื่อช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลรัฐและเอกชน และประชาชน เกิดการเสนอนวัตกรรมเพื่อควบคุมวัณโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมควรสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ เช่น เครือข่ายงานวัณโรคภาคประชาชน จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุน TB Grant ปี 2553 ที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สามารถขยายเครือข่ายให้ความรู้และเข้าถึงชุมชนได้ถึง 469 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 2,066 หมู่บ้าน หากนำแนวคิดและวิธีการไปปรับใช้และขยายผลในจังหวัดอื่นๆ ก็จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของวัณโรคในไทยได้ สำหรับปี 2561 จะมีทุนให้ 3 ทุน ทุนละ 1 แสนบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.- 14 ธ.ค. 2561 และจะมีคณะกรรมการพิจาราคัดเลือก โดยประกาศผล วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562
พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยติด 1 ใน 14 ประเทศ พบผู้ป่วยวัณโรคสูง โดยพบอัตรา 1.2 แสนคนต่อปี แต่มีผู้เข้าถึงระบบการรักษาร้อยละ 60 เสียชีวิตสูงถึงปีละ 12,000 ราย จากวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคดื้อยารุนแรง เนื่องจากไม่มียารักษา ประมาณปีละ 4,500 คน สธ.จึงมีเร่งรัดค้นหาผู้ป่วย เพื่อรักษาและตัดวงจรการแพร่เชื้อที่แพร่ง่ายโดยระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในที่สาธารณะอย่าง รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า มีโอกาสรับเชื้อสูงมาก กลุ่มเสี่ยงสูงอย่างผู้ที่อยู่ในที่แออัด เช่น นักโทษ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วย เช่น พ่อแม่พี่น้องผู้ป่วย กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ต้องมีการคัดกรองการติดเชื้อในระยะแฝง เพราะวัณโรคมีระยะฟักตัวที่นาน อย่างปี 2560 นำรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจคัดกรองนักโทษ 3 แสนคน หากพบว่าติดเชื้อก็ต้องรีบนำมาให้ยาป้องกัน สำหรับแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมวัณโรค ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เป็นแผน 5 ปี คือ ปี 2560-2564 ต้องลดอัตราผู้ติดเชื้อ 172 คนต่อแสนประชากร ให้เหลือ 88 คนต่อแสนประชากร และตามเป้าขององค์การอนามัยโลก คือ ภายในปี 2578 ต้องลดให้น้อยกว่า 10 คนต่อแสนประชากร หลังจากนี้ จะทำงานร่วมกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อสอนให้เด็กนักเรียนรู้จักการเฝ้าระวังตัวเอง รู้จักว่าวัณโรคเป็นอย่างไร กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น
นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.มีการลงทุนงบประมาณในการจัดตั้ง ‘TB Referral Center’ ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดยา รวมถึงกำกับการกินยาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยศูนย์ฯ จะมีการส่งต่อผู้ป่วยที่วินิจฉัยแล้วจากสถานที่หนึ่ง แต่สมัครใจจะไปรักษาที่อื่น หรือส่งต่อผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในสถานพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่นทั้งใน กทม. หรือในต่างจังหวัด รวมถึงช่วยติดต่อสถานที่ทำ DOT (การกินยาโดยมีพี่เลี้ยงกำกับ) ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย มีการติดตามผลเมื่อรักษาครบ เปรียบเสมือนศูนย์กลางที่คอยประสานและติดตามผลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและกินยาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยวัณโรคที่ใช้บริการศูนย์ ‘TB Referral Center’ จำนวน 488 คน ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำเป็นต้องกินยาอย่างต่อเนื่องทุกเม็ด ทุกมื้อตลอด 6 เดือนจนหายขาด ซึ่งจะใช้ค่ายารักษาประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อราย ทั้งนี้ รัฐบาลให้บริการการรักษาฟรี ทั้งค่ารักษาค่ายา แต่หากผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ และหรือหยุดยาเองจะทำให้เป็นวัณโรคดื้อยา ทำให้ต้องเปลี่ยนกลุ่มยาซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นเป็นหลักแสนบาท และต้องกินยาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และถ้าเป็นวัณโรคเชื้อดื้อยาขั้นรุนแรง ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 1.2 ล้านบาทต่อราย