xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำ ร.ร.แนะแนว นร.ยากจน ม.3/ม.6 เตรียมสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 2

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสศ.ชวนโรงเรียนทั่วประเทศ แนะแนว นร.ยากจน-ด้อยโอกาสแต่เรียนดีที่กำลังศึกษาชั้น ม.3 / ม.6 หรือเทียบเท่า เตรียมสมัครทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่น 2 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวที“ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" โดยมีนักศึกษาทุนรุ่นที่ 1 พร้อมด้วยครูอาจารย์เข้าร่วมกว่า 300 คน โดย นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา กสศ.ลงพื้นที่ 11 เส้นทางทั่วประเทศ ต่อเนื่องทุกวันเสาร์อาทิตย์เพื่อปฐมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 ทั้งหมด 2,113 คน และอาจารย์อีกกว่า 250 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพ 36 แห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาทุนฯ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของ ผู้บริหาร ครูอาจารย์ รุ่นพี่นักศึกษาสายอาชีพ รวมถึงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งเรื่องทักษะชีวิต การวางแผนชีวิต ให้นักศึกษาทุนรู้คุณค่าและการวางแผนการใช้-จ่ายเงิน ตลอดจนทักษะอาชีพ จากประสบการณ์จริงของนายจ้าง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจมุ่งมั่นในการเรียน และพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการจัดการศึกษาสายอาชีพชั้นสูง

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ในเทอมที่ผ่านมาเราได้เห็นความก้าวหน้าของระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพนักศึกษาทุน โดยมีครู อาจารย์ที่เปรียบเสมือนโค้ชชีวิตให้คำปรึกษาแนะนำด้านสภาพจิตใจ เพื่อดูแลการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น โดยกสศ.ยังร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาทุนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าของหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาสายอาชีพ โดยเฉพาะความร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ในรูปแบบทวิภาคี เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรีทำความร่วมมือกับ บริษัทแอลแอลไอที(ประเทศไทย)จำกัด (หลิงหลง) ในรูปแบบการเรียนระบบทวิภาคีแบบทวิวุฒิ คือเรียนในประเทศไทย 1 ปี และไปเรียนในสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ปี 6 เดือน จบแล้วได้วุฒิ2ประเทศสามารถเรียนต่อละทำงานได้ทั้งไทยและจีน และยังร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะทางรถไฟหลิ่วโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อฝึกทักษะอาชีพจากประสบการณ์จริง วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญนำนักศึกษาทุนที่ได้รับการคัดเลือกไปฝึกประสบการณ์การทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 1 ปีแบบทวิภาคี โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ร่วมพัฒนาหลักสูตรและเป็นสถานที่ในการฝึกอาชีพ เป็นต้น

“กสศ.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำของนักศึกษาทุน ในเทอมที่ผ่านมามีภาคธุรกิจเอกชนมากกว่า 50 แห่งร่วมโครงการทวิภาคี และความร่วมมือระหว่างประเทศในการคัดเลือกนักศึกษาทุนไปดูงานและฝึกงาน เช่น ญี่ปุ่น จีน เดนมาร์ก และมาเลเซีย” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า ฝากถึงนักศึกษาที่ได้รับทุนวัตกรรม สายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 1 การได้รับทุน ไม่สำคัญเท่าเราจะไปถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนกสศ. ได้อย่างไร เมื่อได้รับโอกาสเราจะต้องเอาใจใส่ต่อสิ่งที่ได้รับ อาจารย์จะต้องดูแลลูกศิษย์ ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้กำกับ ขณะนี้มีกระแสว่าจะมีคนตกงานอีก 400,000 คน ดังนั้นนักศึกษาต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ร่วมบูรณาการระหว่าง ศธ. กสศ.และผู้ประกอบการภาคเอกชน จะเป็นแสงสว่างที่ดีต่อสายอาชีวะ การได้ศึกษางานในสถานประกอบการ ได้เรียนรู้งานนอกห้องเรียน เป็นโอกาสช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัดมหาชน ร่วมบรรยายในหัวข้อ “นวัตกรสายอาชีพในยุค Disruptive Technology” ระบุว่า ปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาส่งผลต่อชีวิตคน และธุรกิจ ดังนั้นเราไม่สามารถเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างเดียว ทุกคนต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ถ้าตั้งหลักได้ตั้งแต่วันนี้ อีก 60 ปี ข้างหน้าจะสบาย นักศึกษาทุนที่ได้รับโอกาส ต้องปรับตัวให้พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น

“วันนี้ภาคธุรกิจไม่ได้รอให้น้องเรียนจบแล้วค่อยไปสมัครงาน หรือเริ่มต้นทำงาน เหมือนของกลุ่มทรู มีโครงการ ทรู แล็บ (True Lab)ที่เข้าไปเชื่อมโยงภาคการศึกษา นำโจทย์ภาคธุรกิจลงไป มีสตาร์ทอัพระดับนักศึกษารวมถึงอาชีวะด้วย ถ้ามีบิสซิเนสโมเดล อยากทำธุรกิจ ไม่ต้องเรียนจบก็สามารถลองผิดลองถูก รีบเรียนรู้ความล้มเหลวตั้งแต่ตอนเรียน แล้วเริ่มต้นใหม่ จะได้ประสบการณ์เร็วขึ้น ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการนักปฏิบัติ สุดท้ายแล้วพอได้นวัตกรรมมา ก็มาแชร์องค์ความรู้กัน รูปแบบการเรียนของอาชีวะจากนี้ไป เป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติทำงานจริงในภาคเอกชน ในโรงงานจริง แล้วจะได้เรียนรู้จริง ถือเป็นการร่นระยะเวลา” ดร.ธีระพล กล่าว

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ล่าสุดกสศ.กำลังจะประกาศเปิดรับโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ประมาณเดือนพฤศจิกายนจะเปิดรับสมัครสถานศึกษาสายอาชีพ ที่มีความพร้อมในการค้นหา แนะแนว คัดเลือกนักเรียนทุน มีระบบดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพนักศึกษา มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพในสาขาที่มีโอกาสการทำงานสูงและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานและการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ โดยภายในเดือนธันวาคม กสศ.จะประกาศรายชื่อสถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ระหว่างนี้กสศ.จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนให้ช่วยแนะแนวและเตรียมความพร้อม ให้กับนักเรียนยากจนด้อยโอกาส มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกครัวเรือนต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท ที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า และนักเรียนที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/ปวช.3 หรือเทียบเท่าโดยเป็นนักเรียนที่มีศักยภาพในการศึกษาต่อจนจบการศึกษา มีผลการเรียนสะสมดี หรือมีความสามารถพิเศษทางทักษะฝีมือ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ โดยสามารถติดตามการประกาศรายชื่อสถานศึกษาสายอาชีพและสาขาวิชาที่เปิดรับ ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ทาง www.eef.or.th สำหรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. แบ่งเป็น2ประเภท คือ ทุน2ปี ปวส./อนุปริญญา และทุน 5 ปีปวช.ต่อเนื่อง ปวส. โดยนักศึกษาทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือน พร้อมกับกิจกรรมเสริมคุณภาพจนสำเร็จการศึกษา

“ ทุนนี้จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในผู้ขาดแคลน ทุนทรัพย์และด้อยโอกาสซึ่งเป็นการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้านการศึกษา (SDG4) ในปีที่ผ่านมามี นักเรียนยากจน ด้อยโอกาสที่เรียนเก่ง และมีความสามารถสูง ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงจำนวนมาก เห็นได้จากผลการเรียนในเทอมที่ผ่านมา และมีนักศึกษาทุนจำนวนมากได้รับรางวัลด้านวิชาการและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น การแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ การแข่งขันอาชีวศึกษา เพชรยอดมงกุฏ อย่างไรก็ตามนักเรียนที่ได้รับทุนจาก กสศ. ปีหนึ่งราว​ 2,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 % ของนักเรียนที่มีฐานะยากลำบาก นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นหากภาคธุรกิจเอกชนสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเติมเต็มทุนสร้างโอกาสนี้ สามารถร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 0795475 ในวันและเวลาราชการ” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว

นางสาวนัซเราะห์ สมจริง  นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปวส.1 สาขาวิชาการท่องเที่ยววิทยาลัยชุมชนสตูล กล่าวว่า ทุนกสศ.เป็นทางเดียวที่ทำให้เราได้เรียนต่อ แล้วยังสามารถมาช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้ด้วย มันเป็นทั้งความดีใจที่ได้เรียนและภูมิใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวดีขึ้น ทุนนี้คือสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตจากที่เคยท้อถอยจนไม่มีความหวังแล้ว แต่ตอนนี้สามารถมองเห็นอนาคตของตัวเองได้อีกครั้ง

นายฉันท์ชนก แก้วตา นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปวส.1 สาขายานยนต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ กล่าวว่า ที่บ้านผมมีพ่อทำงานคนเดียว ช่วงจบ ม.6 พ่อผมเสียชีวิต แม่บอกว่าไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อแล้ว ผมจึงตั้งใจแล้วว่าจะเลิกเรียนไปหางานรับจ้างรายวันทำ งานทำถนนหรืออะไรก็ได้ที่เขารับ แต่พอได้รู้ว่าได้เป็นหนึ่งในนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ก็ดีใจครับที่ได้เรียนหนังสือต่อ แม่เขาก็กำชับให้ผมตั้งใจเรียน ทำตัวให้ดี ให้สมกับที่ กสศ. เลือกเรา





กำลังโหลดความคิดเห็น