xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวหน้าทันยุค! MBA ABAC ผุด 2 หลักสูตร ปั้นนักบริหารที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จะดีแค่ไหน? ถ้าเราได้นักบริหารธุรกิจที่เข้าใจซาบซึ้งในสุนทรียะแห่งดนตรีและนิเทศศิลป์
และจะดีเพียงใด? หากเรามีคนทำดนตรีหรือนักนิเทศที่เก็ทหลักการบริหารธุรกิจ


แน่นอนว่า ถ้าสิ่งดังกล่าวนั้นเกิดขึ้น มันจะกลายเป็นสุดยอดขุมพลังที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นและพัฒนาต่อไปอย่างเต็มเปี่ยมประสิทธิภาพ

Manger Online พาไปทำความรู้จักกับหลักสูตรน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในระดับชั้น MBA หรือปริญญาโท กับ 2 โปรแกรมที่น่าสนใจ ทั้ง MBA Music Business and Entertainment และ MBA Creative Communication Track พร้อมทั้งสนทนากับ “ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์” ผู้อำนวยการหลักสูตร การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ที่มีความคาดหมายว่า ทั้ง 2 หลักสูตรจะช่วยผลิตนักบริหารธุรกิจรุ่นใหม่เลือดใหม่ที่จะก้าวเดินอย่างมั่นใจในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันที่มีการเชื่อมประสานโลกสองใบ คือ ศิลป์แห่งดนตรีกับนิเทศศาสตร์ และ กลยุทธ์แห่งการตลาด เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน...

• เพราะดนตรี คือหนึ่ง...ใน Key Success ของธุรกิจ

“มิวสิก” กับ “เอ็นเตอร์เทน” ต้องเรียนกันด้วยหรือ?
มันสำคัญถึงขั้นต้องเรียนในระดับ MBA หรือปริญญาโทเลยหรือ?
และ...มิวสิก เกี่ยวข้องสำคัญอย่างไรกับการบริหารธุรกิจ?


เชื่อแน่ว่า หลายคนคงเกิดคำถามเช่นนี้ขึ้นมา เมื่อเห็นสาขาวิชา MBA Music Business and Entertainment

คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่ใช้ดนตรี และ “ดนตรี” คือหนึ่งใน Key Success ของธุรกิจแทบทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเล็กระดับเอสเอ็มอี หรือใหญ่โตระดับบิ๊กแบรนด์ต่าง ๆ

ยิ่งเมื่อมองเข้าไปในธุรกิจสายบันเทิง ทั้งรายการเรียลิตี้ การประกวด ละครเวที หรือแม้กระทั่งอีเวนท์เฟสติวัลทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่มีเรื่องของดนตรีเข้ามาเป็นส่วนประกอบ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงธุรกิจโฆษณาที่หากขาดไร้ซึ่งดนตรี งานก็จะดูแห้งแล้งไร้มิติไร้ชีวิตชีวา

แต่บ่อยครั้ง ใช่หรือไม่ว่า คนที่ทำดนตรี กับคนที่เป็นนักธุรกิจ ก็มักจะมองกันคนละมุม ฝั่งคนทำดนตรีให้ความสำคัญกับสุนทรียะหรือความงดงาม ขณะที่ฝั่งนักธุรกิจหรือคนที่ลงทุน ก็มักจะมองเรื่องกำไรขาดทุน ส่งผลให้ดุลยภาพหรือความบาลานซ์ขาดหายไป

ด้วยเหตุนี้ การมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับดนตรี จึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน การมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ก็ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น การเกิดขึ้นมาของสาขาวิชา MBA Music Business and Entertainment จึงมีเป้าหมายในการที่จะช่วยผนวกทั้งสองอย่าง คือศิลปะดนตรีและการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน เพื่อจะทำให้เกิดดุลยภาพหรือความบาลานซ์ที่จะผลักดันให้ธุรกิจและดนตรีก้าวเดินไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง สร้างทั้งรายได้และไม่ทอดทิ้งสุนทรียะ

“ผมคิดว่า คนที่ทำดนตรี บางครั้งเขาก็มีความรักในดนตรีอย่างบริสุทธิ์ใจ จนกระทั่งเขาไม่ได้คิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน ส่วนนักธุรกิจที่คิดเรื่องกำไรขาดทุน ก็อาจจะคิดเรื่องนี้โดยที่อาจไม่ได้เข้าอกเข้าใจเรื่องดนตรีมากมายนัก เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่า เมื่อเราได้มีสำนักหรือมีสถาบันที่สอนตรงนี้ ก็นับเป็นสิ่งที่ดี” ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์ ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ กล่าวแสดงความเห็น

กล่าวอย่างรวบรัด สำหรับผู้ที่อยากมีความรู้ในการบริหารงานทางด้านดนตรี ผู้ที่มีความรู้ด้านดนตรีอยู่แล้ว อยากเพิ่มทักษะการทำธุรกิจให้กับตัวเอง หรือกระทั่งผู้ที่ช่ำชองด้านการทำธุรกิจอยู่แล้ว อยากจะมีความเข้าอกเข้าใจในการนำดนตรีเข้าไปเสริมแกร่งให้กับธุรกิจของตนเอง MBA Music Business and Entertainment นับว่าตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสม

โดยมีรายวิชาที่มีความน่าสนใจและตรงจุดกับการจะนำไปใช้ในธุรกิจ อีกทั้งได้รับการคัดสรรอนุมัติแล้วโดยคณะกรรมการอุดมศึกษา ไล่ตั้งแต่วิชาพื้นฐานจำเป็นที่จะปูพื้นความรู้ด้านการบริหารจัดการให้แข็งแรง ทั้งการตลาด, การเงินการคลัง, แบรนด์, กลยุทธ์ในการบริหาร, เศรษฐศาสตร์, พฤติกรรมองค์กร, วิชาการปฏิบัติการในการบริหาร, วิชาการบริหารธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้งวิชาที่ว่าด้วยการวิจัยหรือพื้นฐานในการวิจัย

“นักศึกษาทุกคนต้องทำงานวิจัย ถ้าเขาไม่ทำวิทยานิพนธ์ เขาก็ต้องทำงานวิจัยที่เป็นวิชาวิจัยอิสระ ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีเรียนมีระเบียบในทางความคิด ในงานวิจัยนั้นเขาอาจจะคำนวณพลาดบ้างก็เป็นได้ แต่การเรียนวิจัยจะทำให้เขามีระเบียบในการคิด และจัดการกับการวิจัยเป็น ดังนั้น ในวันข้างหน้าที่เขาไปทำงาน เขาจะมีระเบียบในการคิดอ่าน ในการจัดการ หรือในการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบระเบียบ”

ขณะที่เมื่อเจาะลึกลงไปในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีแล้ว ก็ไม่ได้มีเพียงการเติมความรู้ในด้านสุนทรียะแห่งดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีวิชาที่ว่าด้วยเรื่องของ “การจัดการธุรกิจดนตรี” ที่สามารถนำไปประยุกต์ในการทำงานที่เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจดนตรีและธุรกิจบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับองค์การ หรืออย่างวิชาที่ว่าด้วย “การจัดการศิลปินในธุรกิจดนตรี” ซึ่งจะช่วยค้นหากลยุทธ์เพื่อการจัดการศิลปินอย่างมีประสิทธิภาพในธุรกิจดนตรี

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปินก็คือผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง เมื่อเขามีความเป็นผลิตภัณฑ์ เราก็ต้องรักษาคุณภาพในความเป็นผลิตภัณฑ์ของเขาเอาไว้ ทุกค่ายเพลงค่ายหนังก็จำเป็นต้องดูแลศิลปินของเขา คำว่าดูแลก็หมายความว่า ให้เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาให้เต็มที่ และสร้างทุนเพื่อที่จะต่อยอดศักยภาพของเขาได้ด้วย ซึ่งวิชาดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดหลักเพื่อการจัดการศิลปินอย่างประสบความสำเร็จ”


ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


ยังมีอีกหลากหลายรายวิชาที่น่าสนใจใน MBA Music Business and Entertainment ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทางด้านดนตรีและบันเทิง ทั้งวิชา “การจัดการแสดงและสถานที่จัดงาน” ที่จะทำให้รู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่าถ้าคิดจะจัดงานแสดง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ประกอบด้วยอะไรบ้าง, วิชา “การจัดการดนตรีระดับโลก” ที่จะเติมเต็มความเข้าอกเข้าใจในการทำธุรกิจดนตรี ผ่านการศึกษาอุตสาหกรรมดนตรีระดับนาชาติ

“สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่า คนที่มาเรียน จะสามารถหาจุดตัดที่เป็นความพอดีในเชิงธุรกิจและศิลปะได้ ถ้ารู้จักที่จะใช้ พูดง่ายๆ ว่า คุณทำดนตรี คุณก็ไม่ขาดทุน อย่างน้อยที่สุด การเรียน MBA ในสาขานี้ก็จะช่วยให้คุณเหมือนกับมีนาฬิกาปลุกในตัวเองตั้งไว้ว่า ถึงเวลาตรงนี้แล้วมันใกล้สัญญาณขาดทุนแล้วหรือยัง” ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์ กล่าวย้ำ

• “สื่อสารอย่างสร้างสรรค์” กุญแจดอกสำคัญ สู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

ขณะที่เคยมีการปรามาสกันว่า สาขาวิชานิเทศศาสตร์นั้น อยู่ในห้วงเวลาอัสดง (Sunset) อีกหน่อยก็คงจะล้มหายตายจากไป แต่ในความเป็นจริง ณ ยุคปัจจุบัน กลับตรงกันข้าม เพราะวิชานิเทศหรือการสื่อสาร ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกอณูของสังคมและเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ทุก ๆ วัน มนุษย์เราได้เกี่ยวข้องกับสื่อสารตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สื่อดิจิทัลหรือโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนอย่างเช่นทุกวันนี้

ดังนั้น วิชานิเทศศาสตร์หรือการสื่อสาร จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่คำถามสำคัญก็คือจะสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพหรือประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถส่งสารผ่านสื่อไปถึงมือผู้รับได้อย่างทรงพลัง และเหนืออื่นใด ในเชิงธุรกิจ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องการตลาดด้วย

“ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฎ์” กล่าวว่า อันที่จริง นิเทศศาสตร์กับการตลาดนั้นเป็นเหมือนพี่น้องกันมาเนิ่นนานแล้ว อย่างที่เราจะได้ยินคำว่า Marketing Communication หรือ Integrated Marketing Communication ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นิเทศศาสตร์มิใช่เพียงแต่จะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพียงถ่ายเดียว แต่เป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่ควรผนวกเข้ากับชั้นเชิงการตลาดซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจหรือทำเงินได้ด้วย

และนั่นก็คือ หนึ่งในหมุดหมายที่มาของสาขาวิชาที่ชื่อว่า MBA Creative Communication Track ซึ่งมองเห็นว่า การสื่อสาร เหมือนกุญแจดอกสำคัญ หรือส่วนผสมที่สำคัญในการที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจมีความแข็งแรงหรือประสบความสำเร็จ

“เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า MBA Creative Communication Track จะทำให้ทุกคนเป็น Creative Director เราคงไม่กล้าเคลมแบบนั้น แต่การเรียนโปรแกรมนี้จะทำให้เกิดมีนักธุรกิจหน้าใหม่ ๆ ที่มีความเข้าอกเข้าใจในงานนิเทศ และสามารถที่จะผนวกสาระแห่งนิเทศศาสตร์กับการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว”

โดยสาระแก่นสารของหลักสูตร MBA Creative Communication Track นั้นคือการใช้สื่อ แต่เป็นการใช้สื่อในเชิงบริหาร ตั้งแต่บริหารความคิดสร้างสรรค์ไปจนถึงบริหารแบรนด์หรือองค์กร รวมทั้งเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ของธุรกิจ การสื่อสารเกี่ยวกับแบรนด์หรือองค์กรอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่จดจำ ซึ่งแน่นอนว่า หลักสูตรนี้จะมีส่วนช่วยทำให้นักธุรกิจมีมุมมองในเชิงนิเทศาสตร์หรือการใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะปลุกปั้นให้นักนิเทศศาสตร์มีทักษะในด้านการตลาดหรือธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน

“ความกล้าหาญในการที่จะสร้างสรรค์ แต่ละคนอาจจะมีมากน้อยแตกต่างกันไป สถาบันการศึกษามีหน้าที่ที่จะไปกระตุ้นหรือสะกิด เราไม่ได้บอกว่าเราจะสอนให้เขาต้องคิดหรือทำแบบนั้นแบบนี้นะครับ เพราะสิ่งที่เราสอนวันนี้ พอถึงพรุ่งนี้ อาจจะเชยแล้วก็ได้ แต่ถ้าเขามีหลักวิชา มีหลักคิด เขาจะทำอะไรภายหน้า เขาก็จะไม่ขัดสน เขาก็จะรู้สึกว่าเขาอยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ หน้าที่ที่จะไปคิดต่อยอดนั้น เป็นหน้าที่ของเขา เป็น Way ของผู้เรียนเอง”

• ต้นทุนที่แข็งแรงกับข้อได้เปรียบที่แข็งแกร่ง

ต้องยอมรับว่า มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษานั้น สุดท้ายแล้วก็เหมือนกับ “แบรนด์” ที่เราเลือก ด้วยความรู้สึกเชื่อมั่น ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ในฐานะสถาบันการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนับเป็นสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจที่แข็งแกร่งแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ผลิตทั้งบัณฑิตและมหาบัณฑิตป้อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศและระดับสังคมอาเซียน ถือเป็นต้นทุนที่แข็งแรงซึ่งสั่งสมสืบเนื่องมายาวนาน และที่สำคัญ บุคลากรเหล่านี้ก็พร้อมที่จะกลับมารับใช้ประชาคมศิษย์เก่า ด้วยการเทคแคร์พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าให้กับน้อง ๆ นักศึกษารุ่นใหม่

เรียกว่าได้ทั้งความรู้ในห้องเรียน ทั้งความรู้จากมืออาชีพผู้ประสบความสำเร็จมาก่อน เหมือนอย่างที่ ดร.อภิชาต เล่าให้ฟังว่า เคยมีนักศึกษาของเอแบคคนหนึ่งไปทำงานด้าน Integrated Marketing Communication ในโรงแรมชื่อดังระดับโลก ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในชั้นเรียนได้ฟังอย่างไม่หวงวิชา ทำให้นักศึกษาสามารถต่อยอดเป็นแรงบันดาลใจ และแน่นอนว่า จากการได้สัมผัสกับรุ่นพี่ที่จบไปและประสบความสำเร็จแล้ว เป็นการขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ที่อาจจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ริเริ่มใหม่ ๆ ร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต

นอกเหนือไปจากการเกื้อกูลแบ่งปันที่จะได้รับจากเครือข่ายศิษย์เก่าที่กว้างขวาง คือการเตรียมนักศึกษาเข้าสู่ความเป็นสากล จากการได้ใช้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน ทั้งตำรับตำราและการเล็คเชอร์ ภาษาอังกฤษของนักศึกษาจะแข็งแกร่งขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ทั้งงานครีเอทีฟก็ดี งานดนตรีก็ดี ล้วนแล้วแต่มีภาษาอังกฤษเป็นกลไกสำคัญในการหล่อเลี้ยง การรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้กว้างไกล รวมทั้งการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ก็ทำได้กว้างขวางระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ ดร.อภิชาต กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า คลาส MBA ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้เรียนจะได้รับทั้งความรู้และความสนุก ด้วยโปรแกรมที่ไม่ใช่มีเพียงนั่งฟังบรรยายแค่ในห้องเรียน แต่ผู้เรียนจะได้ลงมือปฏิบัติจริง อีกทั้งได้พบปะกับมืออาชีพที่จะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แน่นปึ้ก

“ทุกคนมักจะคิดว่าใครๆ ก็เรียนกันดาษดื่น แต่ว่า MBA ของ ABAC เป็น MBA ที่คุณจะได้ลงไปคลุกคลี ผมใช้คำว่า เรียนแล้วสนุก เรียนแล้วรู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนที่คิดเหมือนกัน คิดต่างกัน ซึ่งถ้าคิดแบบคนที่เป็นครูอย่างผม ผมก็มองว่า การเรียน MBA ที่นี่ เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์แบบหนึ่ง หรือเป็น Edutainment อย่างหนึ่งครับ”

(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)



กำลังโหลดความคิดเห็น