ตลาดทั่ว กทม.ผ่านเกณฑ์ปลอดภัยแล้ว 340 แห่ง จาก 390 แห่ง เผย เป็นตลาดระดับพรีเมียม 4 แห่ง กทม.พร้อมทำเรื่องลด “โซเดียม” ในอาหาร หวังคนกรุงสุขภาพดี บอกอะไรดีก็ควรทำ ด้านตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี พร้อมดันผู้ค้าทำอาหารโซเดียมต่ำ แต่ กทม.ต้องช่วยให้ความรู้
วันนี้ (7 ส.ค.) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังมอบป้ายรับรองมาตรฐานตลาดระดับพรีเมียม จำนวน 4 แห่ง และตลาดสะอาด ได้มาตรฐานปลอดภัย 336 แห่ง ว่า กทม.ต้องการพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอาหารปลอดภัย จึงต้องพัฒนาตลาดให้สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน จึงเชิญชวนผู้ประกอบการตลาดมาร่วมพัฒนาและยกระดับตลาดให้ดีขึ้นทั้งในด้านสุขาภิบาล สินค้ามีคุณภาพ และบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งจะแบ่งตลาดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ตลาดที่มีโครงสร้าง จะต้องผ่านเกณฑ์ 3 ด้าน คือ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยอาหาร และการคุ้มครองผู้บริโภค แบ่งออกเป็นระดับเพชร ซึ่งมีตลาดได้รับรางวัลนี้ 56 แห่ง และระดับทอง มีทั้งหมด 62 แห่ง 2.ตลาดที่ไม่มีโครงสร้าง จะต้องผ่านเกณ์ฑ 2 ด้าน คือ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยด้านอาหาร มี 2 ระดับ คือ ระดับเงิน มี 105 แห่ง และระดับทองแดง มี 113 แห่ง และ 3.ตลาดระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นการยกระดับตลาดที่ได้รับรางวัลระดับเพชรต่อเนื่อง 5 ปี ต้องผ่านเกณฑ์ประเมิน 9 ด้าน อาทิ ต้องมีแผงจำหน่ายอาหารพร้อมบริโภคที่มีเมนูสุขภาพอย่างน้อย 1 เมนู การพัฒนาห้องน้ำเป็นสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของ กทม. ไม่ใช่โฟมบรรจุอาหาร การตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ผ่านคิวอาร์โคด “สแกน มี (Scan Me)” การจ่ายไร้เงินสดเพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เป็นต้น ซึ่งมีตลาดผ่านเกณฑ์ 4 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดเอี่ยมสมบัติ เขตสวนหลวง 2.ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน 3.ตลาดบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย และ 4.ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี เขตมีนบุรี
"ปัจจุบัน กทม.มีตลาด 390 แห่ง ขณะนี้มีตลาดผ่านเกณฑ์แล้ว 340 แห่ง ส่วนอีก 50 แห่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ กทม.พยายามเจรจาให้ผู้ประกอบการร่วมพัฒนาและยกระดับตลาดให้ได้มาตรฐาน เชื่อว่า ผู้ประกอบการอยากร่วมกันพัฒนาตลาด ขณะเดียวกัน กองสุขาภิบาลอาหารกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ทั้ง 50 เขตยังร่วมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ จัดอบรมตามหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร กทม. ตรวจสอบการโกงตาชั่ง จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วตรวจสอบสารปนเปื้อนอาหารในเนื้อสัตว์ พืชผักด้วยชุดทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร (เทสต์ คิด) หากประชาชนไม่มั่นใจในความสะอาดและปลอดภัยของสินค้ายังสามารถแจ้งมายังฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลในพื้นที่ร่วมตรวจสอบได้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสินค้าด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน “สแกน มี” ตามคิวอาร์โคดบนบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ” นายทวีศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการนำเรื่องปริมาณโซเดียมในอาหารมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตลาดด้วยหรือไม่ หลังมีการตรวจสอบพบอาหารในตลาดทั่ว กทม.มีปริมาณโซเดียมสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า กทม.มีการกำหนดเกณฑ์ให้ตลาดที่ต้องผ่านเกณฑ์นั้นบรรจุเมนูสุขภาพด้วย ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของประชาชน ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอะไรดีเราก็ต้องทำ ย่างเรื่องโซเดียม หรือไขมันทรานส์ ถือเป็นเรื่องใหม่ กทม.ก็พยายามหาพัฒนาหาแนวทางเพื่อสุขภาพประชาชน เริ่มจากการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ
นายณฤทธิ์ วิฑูรชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี กล่าวว่า หากพูดถึงโซเดียมในอาหาร หลักๆ ก็จะได้รับจากพวกน้ำแกง ซุป และการปรุงรสเพิ่ม ซึ่งถามว่าตลาดจะเอาจริงกับผู้ค้าให้ทำอาหารที่มีโซเดียมน้อยได้หรือไม่ ก็สามารถควบคุมได้ เพียงแต่ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ค้าและทาง กทม.จะต้องเข้ามาร่วมให้ความรู้กับผู้ค้าด้วย อย่างที่มีการอบรมเรื่องการสัมผัสอาหารทุกปี ก็ควรจะมีการแทรกเรื่องนี้เข้าไป เพราะการรับประทานโซเดียมมากๆ ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ควรมีการอบรมให้ผู้ค้าใส่ใจถึงสุขภาพของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าตนเองด้วย ซึ่งหาก กทม.จะกำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตลาดในอนาคตก็ยินดี เพราะหากมองในมุมของผู้บริโภคแล้ว เราก็อยากได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน สำหรับแนวทางการปรับลดโซเดียมของอาหารในตลาด ตนมองว่าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ผู้ค้าหันมาใช้น้ำปลาที่มีโซเดียมน้อยลง การลดใช้ผงชูรส หรือการดันเมนูสุขภาพ ไม่มีผงชูรส โซเดียมต่ำ ขึ้นมาเป็นเมนูแนะนำ เป็นต้น
นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำกับดูแลส่วนบริหารกิจการตลาดสามย่าน กล่าวว่า ตลาดสามย่าน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 เกิดขึ้นจากตลาดชุมชนจนถึงปัจจุบันกว่า 50 ปี เป็นตลาดเก่าแก่ โดยหลักจะให้ความสำคัญต่อผู้ค้าและผู้บริโภค มีการจัดอบรมให้แก่ผู้ค้ามีใจรักงานบริการและการแต่งกาย พัฒนาสถานที่ให้สะดวก ปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิ สถานที่จอดรถ ห้องน้ำสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พัฒนาให้สินค้ามีความหลากหลายให้เลือกสรร ซึ่งก็ดีใจที่ได้รับรางวัลตลาดพรีเมียม เพราะตลาดสามย่านพยายามพัฒนาปรับปรุงข้อเสียตลาดเรื่อยมาจนได้รับรางวัลระดับเพชรต่อเนื่อง มองว่า ปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตภายในห้างสรรพสินค้าและตลาดรูปแบบใหม่ผุดขึ้นจำนวนมาก แต่ตลาดชุมชนนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ฉะนั้น หากอยากแข่งขันหรืออยู่คู่กับสภาพปัจจุบัน เจ้าของกิจการต้องสร้างความโดดเด่นเชิงชุมชน ยกตัวอย่างตลาดดีมีความสะอาด คนต้องอยากมาซื้อของที่ตลาด เพราะการใช้จ่ายระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ผู้ซื้อเลือกสินค้ากับสิ่งของตรงหน้า แต่ตลาดชุมชนผู้ค้าและลูกค้าต่างคุ้นเคยกัน มีอัธยาศัยที่ดีต่อกัน เกิดมิติสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ซื้อจึงมีความวางใจในสินค้ามากกว่า