ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 เดินหน้าแก้ไขปัญหาเครื่องสำอางไม่ปลอดภัย พร้อมจัดโครงการ “เครื่องสำอางภาคใต้ปลอดภัย สวยใส ไร้สารพิษ” ที่ จ.สงขลา
วันนี้ (7 ส.ค.) ที่โรงแรมดาหลาวิลล์ อ.เมือง จ.สงขลา เภสัชกรประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “เครื่องสำอางปลอดภัย สวยใส ไร้สารพิษ เขตสุขภาพที่ 12” ประจำปี 2561 โดยมี นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน
เภสัชกรประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตให้เร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขยายกิจการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องเข้มข้นในการตรวจสอบเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในท้องตลาดให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังเครื่องสำอางในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมมือกันในการดำเนินการ และแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอางได้ต่อไป
ด้าน นายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าธุรกิจด้านความงามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว การผลิต และจำหน่ายเครื่องสำอางได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยก็ได้ขยายวงกว้างขึ้นเช่นกัน โดยผู้บริโภคมักมีค่านิยมอยากมีผิวขาวใส จนทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการโฆษณาชวนเชื่อ และจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต หรือบอกปากต่อปากในกลุ่มเพื่อน และคนใกล้ชิด ทำให้อยากลองใช้ แม้ว่าตัวเองจะมีผิวคล้ำมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ไม่ตรงกับความจริง และการโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 ได้ตระหนัก และให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเครื่องสำอางดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ “เครื่องสำอางภาคใต้ ปลอดภัย สวยใส ไร้สารพิษ” ขึ้นในครั้งนี้ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของเครื่องสำอาง ตั้งแต่แหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค โดยได้มีการสำรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่มีการจดแจ้งตามฐานข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเลือกซื้อเครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่มีการจดแจ้งตามฐานข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในพื้นที่ 7 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน 505 แห่ง พบว่า มีสถานที่ผลิตเครื่องสำอางตรงตามที่จดแจ้งเพียง 86 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.03 และมีสถานที่ผลิตเครื่องสำอางที่จดแจ้งไม่ตรงตามความเป็นจริง จำนวน 419 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82.97 สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้มีการตรวจสถานที่ผลิต/นำเข้า ก่อนการจดแจ้ง และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอาง เพื่อเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
โดยกำหนดให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องปฏิบัติตามประกาศฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 โดยผู้ประกอบการรายใหม่ต้องจัดเตรียมสถานที่ และอุปกรณ์ให้เป็นไปตามประกาศฯ ก่อนการยื่นจดแจ้งเครื่องสำอาง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับใบรับจดแจ้งก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ต้องยืนยันตัวตนภายใน 45 วัน หลังได้รับหนังสือลงทะเบียนดังกล่าว หากไม่แสดงตน อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะดำเนินการเพิกถอนใบรับแจ้งต่อไป ส่วนผู้ประกอบการที่ประสงค์จะดำเนินการต่อ ให้ปรับปรุงสถานที่ผลิต และนำเข้าให้ได้ตามเกณฑ์ที่ประกาศฯ กำหนดต่อไป
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ส่วน คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการตรวจสอบเฝ้าระวังการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อย่างถูกต้อง และมีการจัดบูทนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในการเลือกซื้อเลือกบริโภคเครื่องสำอางได้อย่างถูกต้องปลอดภัย รวมถึงการชี้แจงแนวทางการดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางอย่างถูกกฎหมายให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจจะประกอบธุรกิจเครื่องสำอางในอนาคตต่อไป