กทม.สกรีนเข้มผู้ค้า “ถนนข้าวสาร” ตั้งแผงบนทางเท้า 7 วัน สกัดมาเฟียแฝงตัว ป้องกันคนหาผลประโยชน์ คาดประชุมร่วมท่องเที่ยว พาณิชย์ และตำรวจ 9-10 ส.ค.นี้ ในรูปแบบคณะกรรมการ หวังหาข้อสรุปจัดระเบียบถนนข้าวสารใช้วิธีใด ก่อนเสนอนายกฯ เห็นชอบ ยันถนนข้าวสารไม่ได้บูมจากผู้ค้า แต่มาจากเกสต์เฮาส์ราคาถูก
ความคืบหน้ากรณีการจัดระเบียบถนนข้าวสาร โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุโลมให้ผู้ค้าสามารถตั้งแผงบนทางเท้าชั่วคราว เป้นเวลา 7 วัน ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. เพื่อรอความชัดเจนในการหารือกับหน่วยงานที่เกีย่วข้องว่าจะจัดระเบียบถนนข้าวสารออกมาในรูปแบบใด หลังจากที่ยังไม่สามารถให้ผู้ค้าลงมาขายบนผิวจราจรได้ เนื่องจากกองบังคับการตำรวจจราจรระบุว่าเป็นการขัดต่อกฎหมาย
วันนี้ (7 ส.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การอนุโลมให้ผู้ค้าตั้งแผงขายของบนทางเท้าถนนข้าวสารชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน เวลา 18.00-24.00 น. เป็นแค่ชั่วคราวระหว่างรอข้อสรุปในการจัดระเบียบถนนข้าวสาร ว่า สุดท้ายแล้วจะให้ออกมาในรูปแบบใด ไม่ได้ให้ขายตลอดไป โดยให้สิทธิ์ผู้ค้า 1 คน 1 แผง ขนาดเท่ากันคนละ 1.5 เมตร ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 230 กว่าราย โดยจะมีการสกรีนอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นผู้ค้าจริงๆ ไม่ให้มีมาเฟียมาแฝงเป็นผู้ค้า หรือมีผู้มาหาประโยชน์เอาแผงไปปล่อยเช่า หรือเอาชื่อญาติมาใช้แล้วมารวมแผง เป็นต้น เพราะวัตถุประสงค์เราต้องการช่วยคนทำมาค้าขาย ไม่ใช่ให้คนรวยเอาที่หลวงมาหากิน หรือเจ้าของห้องแถวจะอาศัยทางเท้าหน้าร้านมาให้เช่า หรือต้องจ่ายค่าเช่าเพื่อไม่ให้ผู้ค้ามาตั้งแผง แบบนี้คงไม่ได้แล้ว สำหรับการหารือว่าจะหาทางออกการจัดระเบียบถนนข้าวสารอย่างไร เนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ก็ต้องคุยกันในระดับชาติ กทม.คงตัดสินใจเองไม่ได้ จึงจะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ ตำรวจ และเขตที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 หรือ 10 ส.ค.นี้ และจะให้ทางสำนักงานเขตพระนคร ไปทำประชาพิจารณ์สอบถามผู้ค้าและประชานบริเวณดังกล่าวด้วยว่า อยากให้การจัดระเบียบออกมาในรูปแบบใด
“จุดนี้ถ้าทุกคนเห็นความสำคัญว่าอยากให้อยู่ต่อ ก็ต้องมาทำให้มันถูกต้อง ให้ยั่งยืน และดูดีกว่านี้ ซึ่งการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหารือและหาข้อสรุป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการดังกล่าวมีข้อสรุปในการจัดระเบียบอย่างไร ก็ต้องดำเนินการตามนั้น เช่น หากเห็นว่าถนนข้าวสารมีเพียงห้องแถวในการค้าขายก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีแผงบนทางเท้า ทางผู้ค้าก็ต้องยอมรับ หรือหากมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญควรมีการขายบนทางเท้าต่อไป ก็ทำเรื่องมายัง กทม.ให้ถูกต้อง ซึ่ง กทม.ก็พร้อมจะออกข้อกำหนดอนุโลมให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถขายบนทางเท้าได้ ซึ่ง กทม.จะได้มีข้ออ้างได้ว่า กทม.ไม่ได้คิดเองในการให้จุดผ่อนผัน แต่เป็นนโยบายที่รัฐบาลและทุกคนที่เห็นชอบให้ยกเว้นพื้นที่ตรงนี้ เพราะมิเช่นนั้น หาก กทม.ให้จุดผ่อนผันเอง หากพื้นที่อื่นจะขอบ้างจะเป็นเช่นไร ก็จะกลายเป้นว่ากลับมามีหาบเร่แผงลอยกันหมดหรือไม่ ซึ่ง กทม.คงไม่ยอมกลับไปยังจุดเดิมที่เคยจัดระเบียบมาแล้ว” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นายสกลธี กล่าวว่า ถนนข้าวสารถือเป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ก็อาจจะต้องมีการเสนอเรื่องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วย ทั้งนี้ หากระหว่างการหารือยังไม่ได้ข้อสรุปก็อาจจะอนุโลมให้ขายบนทางเท้าชั่วคราวต่อไปก่อนได้ จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบางส่วนโจมตี หรือนักท่องเที่ยวบอกว่า การจัดระเบียบทำให้เสน่ห์ของถนนข้าวสารหายไป แต่ตนคงไม่ยอมให้เสน่ห์ของถนนข้าวสาร คือ การสกปรก เลอะเทอะ ทุกคนอยากทำอะไรก็ทำ คงไม่ได้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง คงไม่ยอมให้ฝรั่งมาแฮปปี้ที่บ้านตนเองสกปรกแล้วอยู่ต่อเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวก็มีคนชอบการมาเที่ยวแบบปลอดภัย ถ้ายึดเอากฎหมาย ระเบียบสวยงามก็น่าจะดีกว่า คงไม่มีใครอยากเดินที่น่ากลัว เป็นแดนสนธยา ผู้ค้าก็ต้องเคารพคนที่เห็นต่างด้วย
เมื่อถามถึงกรณีผู้ค้าระบุว่า ข้าวสารดังขึ้นเพราะการรวมตัวของผู้ค้าโดย กทม.ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ นายสกลธี กล่าวว่า จะพูดเช่นนั้นคงไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วถนนข้าวสารดังมาจากการที่โรงแรม หรือเกสต์เฮาส์ราคาถูก พอมีคนมาอยู่ก็มีผู้ค้าเข้ามา จะบอกว่าผู้ค้าทำให้บูมคงไม่ได้ เพราะมีที่พักดีๆ จึงมีคนมาทำมาหากิน แล้วที่ว่า กทม.ไม่ช่วยเลย คงไม่ใช่ เพราะ กทม.ก็ไปเก็บขยะ ทำความสะอาด แต่ถามว่าใครที่ทำให้ถนข้าวสารเละเทะ ก็คงเห็นชัดตอนทำความสะอาดครั้งใหญ่ว่ามีรังแมลงสาบ มีเศษขยะ ท่อตันจากการเทอาหารลงท่อ เป็นต้น
เมื่อถามถึงการออกข้อบัญญัติในการปิดถนนข้าวสารทำง่ายหรือไม่ นายสกลธี กล่าวว่า การออกข้อบัญญัติไม่ใช่เรื่องยาก ก็เหมือนอย่างการจัดงานสงกรานต์ ตำรวจก็ต้องเซ็นออกข้อบัญญัติในการปิดถนนหรือให้เดินรถทางเดียว แต่ที่กรณีนี้ยังไม่สามารถออกข้อบัญญัติได้ เพราะแทบจะเป็นข้อบัญญัติถาวรหรือระยะยาว ซึ่งทางตำรวจก็กังวลในเรื่องนี้ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาหารือกันว่าสุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไร หากเห็นว่าเป็นจุดสำคัญก็ควรมาร่วมกันทำอย่างถูกต้อง