กทม.กำชับ 50 เขต บังคับใช้ระเบียบ กทม.เดิม หลังเคยเก็บ “ป้ายนักการเมือง” เรียบร้อยมาแล้ว เร่งจัดเก็บป้ายบอกเส้นทาง-ป้ายเครื่องหมายจราจรที่มีการโฆษณาสินค้าแฝง พบกว่าร้อยละ 80 มีการแอบแฝงโฆษณาสินค้า หรือปรากฏชื่อผู้ให้การสนับสนุน
วันนี้ (1 ส.ค.) แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้เวียนบันทึกข้อความถึงผู้อำนวยการสำนัก และผู้อำนวยการเขต 50 เขต เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับป้ายบอกเส้นทางและป้ายเครื่องหมายจราจรที่มีการโฆษณาสินค้าแฝง ตามมติคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดระเบียบทางเท้า รวมถึงการจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร หลังจากคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีมติและให้แจ้งแนวทางปฏิบัติรับทราบและดำเนินการจัดเก็บป้ายบอกเส้นทางและป้ายเครื่องหมายจราจรที่มีการโฆษณาสินค้าแฝง ตามอำนาจหน้าที่อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันมีการติดตั้งป้ายที่มิได้รับอนุญาตจำนวนมาก หลังจากได้เคยเวียนแจ้งส่วนราชการเพื่อทราบและดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
1. ป้ายโฆษณาประเภทที่ขอติดตั้งชั่วคราว ไม่ติดตรึงถาวร มีกำหนดระยะเวลาในการติดตั้ง และการจัดเก็บป้ายที่แน่นอน หากมีการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งปัายประเภทนี้จากหน่วยงานอื่น เป็นอำนาจ หน้าที่ของสำนักเทศกิจ เป็นผู้พิจารณาตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้ง ป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ ลงวันที่ 29 เมษายน 2548 และคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1974/2548 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2548 เรื่องมอบอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. ป้ายบอกทาง ป้ายบอกสถานที่ และป้ายเครื่องหมายจราจร เป็นอำนาจหน้าที่ดำเนินการติดตั้งของสำนักการจราจรและขนส่ง ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และอนุมัติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือที่ กท 0309/1579 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2531 เรื่องการพิจารณาเพื่อการติดตั้งป้ายและนำสถานที่ราชการ ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่สามารถตำเนินการติดตั้งได้เอง หากมีการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งป้ายประเภทนี้จากหน่วยงานอื่น ให้สำนักการจราจรและขนส่งเป็นผู้พิจารณาตำเนินการตามอำนาจหน้าที่
3. ป้ายบอกทาง ป้ายบอกสถานที่ และป้ายเครื่องหมายจราจร ที่มีการแอบแฝงโฆษณาสินค้า หรือปรากฎชื่อผู้ให้การสนับสนุน เป็นป้ายทึ่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะลงวันที่ 29 เมษายน 2548 และไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และอนุมัติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือที่ กท 0309/1579 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2531 เรื่องการพิจารณาเพื่อการติดตั้งป้ายแนะนำสถานที่ราชการ จึงไม่สามารถอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการติดตั้งป้ายดังกล่าวในที่สาธารณะได้ หากมีการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งป้ายประเภทนี้จากหน่วยงานอื่น ให้สำนักการจราจรและขนส่งเป็น ผู้พิจารณาแจ้งให้หน่วยงานผู้ขออนุญาตทราบต่อไป และให้สำนักงานเขตทุกเขตเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ ตามอนุมัติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กท 1603/2242 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ข้อ 1 ต่อไป
แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่พร้อมกำชับให้ทุกเขตรื้อถอนป้ายผิดกฎหมาย เนื่องจากเบื้องต้นจัดเก็บป้ายผิดกฎหมายทั่วพื้นที่ กทม.มากถึง 500 ป้าย ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 80 เป็นป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ติดตั้งบนทางเท้า ตามต้นไม้ เสาไฟฟ้า ซึ่งบดบังทัศนียภาพ กีดขวางเส้นทางสัญจรของประชาชน ส่วนการพิจารณาแก้ไขค่าปรับเพิ่มนั้น กฎหมายรักษารักความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ. 2535 ระบุไว้ว่าอยู่แล้ว ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท
สำหรับป้ายที่ไม่สามารถติดตั้งบนพื้นที่สาธารณะได้ แบ่งเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย ป้ายเกาะกลางถนน ป้ายบนสะพานลอยป้ายหน้าปากซอย ป้ายที่อยู่ในเขตทาง ป้ายอวยพรในเทศกาลต่างๆ ป้ายล้อเลียน หรือ เลียนแบบ กทม. และป้ายติดตามผนังกำแพง บ้านเรือนประชาชน โดย กทม.จะเลือกรื้อถอนป้ายผิดกฎหมายที่ไม่มีเจ้าของ หรือแจ้งเจ้าของแล้วแต่ไม่ดำเนินการเป็นอันดับแรกก่อน ขณะที่ป้ายในพื้นที่เอกชนจะใช้มาตรการของภาษีตรวจสอบหาเจ้าของ และได้เสียภาษีหรือไม่
มีรายงานว่า เมื่อปลายปี 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วครั้งหนึ่ง จนนำมาสู่การจัดเก็บป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานเครื่องหมายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมีอง ทั้งชื่อ ส.ส., ส.ก., ส.ข. และอดีตผู้สมัครครั้งใหญ่ รวมถึงป้ายโฆษณาของเอกชน
“ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บภาษีป้ายบางประเภทและอัตราภาษีป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งป้ายข้อความอักษรวิ่ง (ป้ายดิจิตอล) ป้ายที่มีกรอบภาพเดียวแตํสามารถพสิกไปมาได้หลายภาพ ป้ายเลื่อนไปทางข้ายมีอหรือป้ายเลื่อนขึ้นหรือลง, ป้ายไตรวิชัน หรือป้ายที่โฆษณาสินค้าได้หลายอย่างตามจำนวนภาพที่แสดง, ป้ายลักษณะจอโทรทัศน์ (จอ LED) ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว”
ครั้งนั้น สตง.ได้ตรวจสอบการติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเขตพื้นที่ กทม. และมีข้อเสนอแนะมายังผู้ว่า กทม. สั่งการและกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม ดูแลการติดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะ และการนำเครื่องหมายราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป้ายบอกเส้นทาง ป้ายเครื่องหมายจราจร ที่มีการโฆษณาสินค้าแฝงให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังแจ้งปัญหาในการจัดเก็บภาษีป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้กระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาปรับปรุงอัตราภาษีป้ายให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของป้ายโฆษณาในปัจจุบัน.