xs
xsm
sm
md
lg

สบส.จ่อตรวจคลินิกใช้ “หมอเกาหลี” รักษา “เม อดีตนักร้อง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส.เตรียมตรวจสอบเพิ่มเติม “คลินิก” ลอบใช้ “หมอเกาหลี” รักษา “เม อดีตนักร้อง” หลังเสียหายจากการศัลยกรรมหน้าอก ด้านแพทยสภายันไม่มีอนุญาตหมอต่างชาติมาประกอบธุรกิจ ให้การรักษา มีเพียงออกใบอนุญาตมาเรียน อบรม หรือมาเป็นอาจารย์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ความคืบหน้ากรณี น.ส.จีระนันท์ กิจประสาน หรือ เม อดีตนักร้องสาว พร้อมทนายความ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อแพทยสภา และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้ตรวจสอบคลินิกและเอเยนซี ที่ส่งไปทำศัลยกรรมหน้าอกที่ประเทศเกาหลีใต้ แล้วได้รับความเสียหาย

วันนี้ (3 ส.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เบื้องต้นได้ลงไปตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าว ซึ่งขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 แต่เมื่อทาง น.ส.จีระนันท์ ซึ่งเป็นผู้เสียหาย ได้ยืนยันว่า เมื่อได้รับผลกระทบจากการศัลยกรรมหน้าอก ก็ได้ไปรักษาที่สถานพยาบาลหรือคลินิกดังกล่าว ซึ่งมีแพทย์จากเกาหลีมาทำการรักษาให้ในคลินิก สบส.ก็จะลงไปตรวจสอบอีกครั้ง ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สบส.จะต้องประสานผู้ดำเนินกิจการคลินิกแห่งนี้ เพื่อขอข้อมูลต่างๆ หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการดึงแพทย์เกาหลีมารักษาที่คลินิกจะมีความผิดโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“เท่าที่ทราบแพทยสภาไม่ได้อนุญาตให้แพทย์ต่างชาติมารักษาที่คลินิกแห่งนี้ ซึ่งการจะเข้ามาต้องมาทำเรื่องขออนุญาตอีก ดังนั้น หากมีจริงก็ถือว่าผิด ทั้งแพทย์ต่างชาติ และคลินิก อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีเรื่องบริษัทเอเยนซีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของทาง สคบ.ในการรับเรื่องนี้ ส่วน สบส.จะมีหน้าที่ในเรื่องการกำกับดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเอาผิดอย่างไรกรณีสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่อาจมีการลักลอบนำแพทย์ต่างชาติมารักษา นพ.ธงชัย กล่าวว่า สบส.มีการล่อซื้อ เพราะหากจับผิดไม่ได้ต่อหน้าต่อตา ก็ค่อนข้างยาก เพราะหลายครั้งมีเพียงพยานบุคคล ก็ต้องไปสอบหาพยานวัตถุเพิ่มเติม

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ที่ปรึกษาแพทยสภา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้อนุญาตให้แพทย์ชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจทางด้านการแพทย์หรือทำหัตถการในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบเต็มเวลาหรือชั่วคราว การจะติดตามผู้ป่วยมาแล้วทำการรักษา จะล้างแผลเย็บแผลก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นการประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ ที่อนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาได้ในกรณีที่เป็นอาจารย์สอนพิเศษ เทคนิคการรักษาโรคใหม่ๆ หรือสอนในหลักสูตรที่แพทยสภากำหนด อีกส่วนหนึ่งคือ เข้ามาเพื่อเรียนหนังสือในโรงเรียนแพทย์ของไทย และกรณีการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเข้ามาผ่านกระบวนการขอใบอนุญาตที่จะออกให้ในเวลาสั้นๆ ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการอยู่ประเทศไทยชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น