แพทย์เตือน “ออฟฟิศซินโดรม” ส่งผลร่างกายผิดปกติหลายระบบ ทำปวดเมื่อย ปวดหลังเรื้อรัง กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง สมองรับออกซิเจนไม่เต็มที่ ไมเกรน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
วันนี้ (3 ส.ค.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) คือ อาการที่มักเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศทั้งวัน ไม่มีการออกกำลังกายเป็นประจำ และมีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสมการระบายอากาศไม่ดี จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงการปวดหลังเรื้อรังจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน และหากมีความเครียดจะส่งผลให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดตา หน้ามืด เป็นต้น นอกจากนี้ อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ทั้งนี้ กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ยังรวมไปถึงระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เนื่องจากการทำงานอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เครื่องปรับอากาศไม่สะอาด รวมไปถึงสารเคมีจากหมึกของเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ และเครื่องพิมพ์เอกสาร ซึ่งวนเวียนอยู่ภายในห้องทำงานอีกด้วย
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า แนวทางการดูแลรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม คือ การรักษาตามอาการ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา เพียงปรับเปลี่ยนอิริยาบถ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้นอาจให้ยาบรรเทาอาการหรือได้รับการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ในทางการแพทย์ปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดเพื่อรักษาที่สาเหตุของโรคหรือให้ยาบรรเทาอาการทั้งในรูปแบบการฉีดยาหรือรับประทานยา เนื่องจากกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม การป้องกันสามารถทำได้โดย 1. การทำความสะอาดออฟฟิศ หากใช้พรมปูพื้นควรทำความสะอาดพรมอย่างน้อยทุกเดือน 2. การทำงานกับคอมพิวเตอร์ควรพักสายตา เปลี่ยนอิริยาบถ พักเบรกยืดเส้นยืดสายระหว่างการทำงาน โดยลุกขึ้นยืนเดินไปมา 3.ไม่ควรถ่ายเอกสารในออฟฟิศ ควรตั้งเครื่องถ่ายไว้ภายนอก 4. ดูแลเครื่องปรับอากาศโดยการล้างไส้กรองอากาศบ่อยๆ 5.ทำงานในสถานที่ มีแสงสว่างเพียงพอ อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เย็นหรือร้อนเกินไป
ทั้งนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้จัดตั้งคลินิกอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้การรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน หากสงสัย “เกี่ยวกับอาการออฟฟิศซินโดรม” (Office syndrome) สามารถปรึกษาได้ที่คลินิกดังกล่าว หรือสอบถามได้ที่ สายด่วน 02 517 4333 ในวันและเวลาราชการ