xs
xsm
sm
md
lg

3 วิธีตรวจสอบ “ที่ทำงาน” ก่อโรคออฟฟิศซินโดรม หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย 3 วิธีตรวจสอบ “ที่ทำงาน” ส่อก่อโรคออฟฟิศซินโดรม หรือไม่ ชี้ ต้องดูแสง - อากาศ - โต๊ะเก้าอี้ เหมาะสม ย้ำ นั่งท่าเดิมนานๆ ก้มหน้าพิมพ์งาน ไม่เคลื่อนไหว ส่งผลเมื่อยตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูกข้อต่อเสื่อม ห่วงเด็กอายุ 20 ปี ป่วยเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (1 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวงาน “Smart Office Workers ปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศพิชิต 2 ม.” ว่า วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันแรงงาน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเรื่องของ Safety Thailand คือมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุและลดโรคจากการทำงาน จึงอยากให้ผู้ใช้แรงงาน พนักงาน ใส่ใจเฝ้าระวังป้องกันการทำงาน เพราะปัจจุบันหลายคนทำงานจำนวนมากถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่า และมักทำงานกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20.2 ล้านคน จำนวนนี้เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 15 - 59 ปี จำนวน 14.4 ล้านคน หรือร้อยละ 71.2 ซึ่งการนั่งดูจอคอมพิวเตอร์นานๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดปัญหา คือ 1. การใช้สายตานานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าสายตา ยิ่งแสงในห้องไม่พอ หรือจ้ามากเกินไป ระยะจอไม่เหมาะสม จะยิ่งทำให้เกิดการใช้กล้ามเนื้อสายตามาก ปรับสายตามาก เกิดสายตาสั้นหรือยาวตามมาได้ รวมถึงการอักเสบของตา ตาแห้ง ความหล่อลื่นไม่พอ จนทำให้กระจกตาอักเสบได้

นพ.เจษฎา กล่าวว่า และ 2. การอักเสบของกล้ามเนื้อ เนื่องจากท่านั่งไม่เหมาะสม มีการเอี้ยวตัวหยิบของที่ไกลเกิน หรือผิดท่า ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ฉีกขาด หรือข้ออักเสบได้ นอกจากนี้ การก้มหน้าคีย์ข้อมูลนานๆ อาจทำให้กระดูกข้อต่อคอเสื่อม ทับเส้นประสาทได้ เพราะศีรษะมนุษย์มีน้ำหนักมาก โดยผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ 1. ปวดหลังเรื้อรัง 2. ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากความเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ และ 3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม หรือยังทำพฤติกรรมเหล่านี้ซ้ำๆ ความรุนแรงก็จะเพิ่มตามลำดับ

“อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือ “โรคออฟฟิศซินโดรม” เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ สาเหตุของโรคมักเกิดจากสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม อยู่ในท่าเดิมซ้ำๆ ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบของอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งนี้ ช่วงอายุของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม จากอดีตมักพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปี อาจเป็นเพราะมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการใช้โซเชียลอย่างแพร่หลายการเล่นเกม ผ่านทางแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนนานๆ ส่วนใหญ่จะพบการอักเสบของข้อมือ มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อคอ ไหล่ และสะบัก” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า วิธีป้องกันและปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพให้ทุกคนเป็น Smart Office Workers ขอให้ยึดหลัก พิชิต 2 ม. คือ 1. เมื่อยตัว ป้องกันได้โดยการนั่งทำงานด้วยท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม ของที่ใช้บ่อยให้วางไว้ใกล้ตัว จัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ที่นั่ง ควรปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน ควรหยุดพักเป็นระยะระหว่างทำงาน หากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี และ 2. เมื่อยตา คือ จัดตำแหน่งการทำงานให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอ ขณะทำงานให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือให้พักหลับตาประมาณ 3 - 5 วินาที บ่อยๆ เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ควรมีการพักสายตาเป็นช่วงสั้นๆ จากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุกๆ 1 - 2 ชั่วโมง ให้พักสายตาประมาณ 5 - 10 นาที โดยละสายตาจากคอมพิวเตอร์ มองไปไกลๆ และควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง หากรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา ให้พักสายตาทันที อย่าฝืนทำงานต่อ

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม คร. กล่าวว่า การตรวจสอบด้วยตนเองว่าสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเหมาะสมหรือไม่ สามารถทำได้โดย 1. ดูว่าแสงภายในห้องเพียงพอ หรือสว่างเกินไปหรือไม่ ซึ่งหากแสงเปลี่ยน เช่น เริ่มมืดหรือจ้าเกินไป สายตาจะมีการปรับ หากเกิดอาการเมื่อยตาจะเป็นการบ่งบอกว่าแสงในห้องมีปัญหา สำหรับห้องที่หลอดไฟสูงเกินไป อาจแก้ไขด้วยการตั้งโคมไฟไว้ที่โต๊ะ แต่ต้องไม่จ้าเกินไป ส่วนแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรเท่าๆ กับแสงรอบๆ 2. การระบายอากาศดีไหมหรือไม่ โดยวัดจากการนั่งทำงานแล้วรู้สึกอึดอัดหรือไม่ เพราะหากอากาศไม่ไหลเวียน แม้จะไม่ร้อนแต่จะรู้สึกอึดอัด และหากคุณภาพอากาศในห้องไม่ดี เช่น มีคาร์บอนมอนอกไซด์เยอะเกินไป อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน และ 3. โครงสร้างของโต๊ะ เก้าอี้ที่ทำงาน จะต้องเหมาะกับความสูงของผู้ทำงาน เช่น นั่งแล้วเข่าต้องตั้งฉากได้ แขนขนานกับพื้นดิน ไม่ใช่ไม่มีที่เท้าแขน คอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น