xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ฝากเด็ก เยาวชน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วิษณุ” เป็นประธานเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 61 พร้อมมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย-ผู้ใช้ภาษาไทย-ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ศิลปิน-นักร้อง รับรางวัลเพชรในเพลง-ชาวต่างชาติใช้ภาษาไทยดีเด่น ฝากเด็ก เยาวชน ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2561 พร้อมมอบเข็ม โล่เชิดชูเกียรติและรางวัลแก่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวไทยและต่างชาติ ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยประเภทบุคคลและประเภทองค์กร เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน รางวัลการประกวดการเห่เรือ รางวัลการประกวดส่งเสริมการใช้ภาษาไทยถิ่นและศิลปินนักร้อง ที่ได้รับรางวัลเพชรในเพลง รวมทั้งมอบเกียรติบัตรผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย 13 ประเทศ โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ศิลปิน อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) และกรมศิลปากร (ศก.) ได้คัดเลือกบุคคลและองค์กร เพื่อรับเข็ม โล่เชิดชูเกียรติและรับมอบรางวัลซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้มีดังนี้ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2 คน ได้แก่ 1.รศ.ประจักษ์ สายแสง 2.ศ.วิภา กงกะนันทน์

รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 9 คน มีนักวิชาการ นักเขียน และสื่อมวลชน 5 คน และชาวต่างชาติ 4 คน ได้แก่ 1.นายกรกันต์ สุทธิโกเศศ 2.ผศ.พิสิทธิ์ กอบบุญ 3.นายสาธิต กรีกุล 4.นายเสน่ห์ วงษ์กำแหง 5.น.ส.อำไพ สังข์สุข 6.นายคะซุฮิโกะ บันโนะ 7. นายอดัม แบรดชอว์ 8.นายฮาราลด์ ลิงค์ 9.นายทูกสบิลกุน ทู เมอคุเล็ก

รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 7 คน ได้แก่ 1.นายจุมพล ทองตัน 2.นายชูชาติ ใจแก้ว 3.นายบุญทิพย์ สุริยะจันทร์ 4.ร.ต.ต.ปรีชา สุขจันทร์ 5.นายศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว 6.นายสมจิต ทองบ่อ 7.นายสุนทร คำยอด

สำหรับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประเภทบุคคล 1 คน ได้แก่ พระเทพสุธรรมญาน (แฉล้ม เขมปญฺโญ) และประเภทองค์กร 2 องค์กร ได้แก่ 1.สถาบันปัญญ์สุข 2.ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย จ.ลพบุรี

ผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศถ่ายคลิปวีดีโอรณรงค์การใช้ภาษาไทยซึ่งปีนี้มีสถานทูต 13 ประเทศร่วมกิจกรรม ได้แก่ มองโกเลีย มาเลเซียมอลตา เบลเยียม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีญี่ปุ่น คาซัคสถาน จีนปานามา โปแลนด์ ญี่ปุ่น และอาร์เจนตินา เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญเสริมสร้างความสัมพันธ์เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล โดยมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานทูตที่ร่วมกิจกรรมด้วย

นอกจากนี้ มีศิลปินนักร้อง ได้รับรางวัลการประกวดเพชรในเพลง 10 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงรอปฏิหาริย์ ผู้ขับร้อง นายปองศักดิ์ รัตนพงษ์ (อ๊อฟ ปองศักดิ์) ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงลบนาทีที่มีเธอ ผู้ขับร้อง นางสาวนภัสสร ภูธรใจ (นิว) และนางสาวปิยนุช เสือจงพรู (จิ๋ว) ประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงบุญผลา ผู้ขับร้อง นายพรภิรมย์ พินทะปะกัง (ไมค์ ภิรมย์พร) และประเภทผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงทองดำ ผู้ขับร้อง น.ส.พลอยชมพู ลอมเศรษฐี (ปะแป้ง พลอยชมพู)

2.รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงวันสุดท้ายของพ่อ ผู้ประพันธ์ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เพลงใจเต็มดวง ผู้ประพันธ์ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา 3.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลง ได้แก่ นายบูรพา อารัมภีร 4.รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษครูเพลงผู้ประพันธ์เพลงอมตะ ได้แก่ ศ.เกียรติคุณนายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ (ครูวราห์ วรเวช) 5.รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต ได้แก่ นางสุคนธ์ พรพิรุณ (ครูพรพิรุณ) และ6.รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ขับร้องเพลงอมตะ ได้แก่ นางดวงจันทร์ ไพโรจน์ (วงจันทร์ ไพโรจน์)

นายวิษณุ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงาน วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ปี .2561 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม ซึ่งพระองค์ได้ทรงร่วมอภิปรายปัญหาการใช้ภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น“วันภาษาไทยแห่งชาติเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณกรรม รวมถึงส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน

นายวิษณุ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเอง โดยถือว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ชาวไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ จากประวัติศาสตร์และหลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย ที่ปรากฏตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 700 ปี และภาษามีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและยุคสมัย โดยอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีและสารสนเทศ มีการประดิษฐ์คิดค้นติดต่อสื่อสารที่แตกต่างหลากหลายจากในอดีตและจะพัฒนาต่อไปอีกเป็นอันมาก สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อคนจำนวนมากในสังคมเป็นธรรมดา โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางภาษา สิ่งที่เป็นภาษาพูด ภาษาเขียนที่เคยใช้ในยุคนี้อาจจะไม่เป็นที่เข้าใจในยุคต่อมา และสิ่งที่เราพูดหรือเขียนในวันนี้ อาจจะไม่เข้าใจในยุคต่อๆ ไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง อย่าให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วและง่ายดายจนเกินไป จนในที่สุดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาษา หลักภาษา

“เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงร่วมอภิปราย เรื่องการใช้ภาษาไทย พระองค์ทรงห่วงใยวิวัฒนาการของภาษาที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้ระเบียบ ไร้การควบคุม จึงเป็นสิ่งที่คนในยุคต่อมา ยุคปัจจุบัน และยุคต่อไป ต้องระมัดระวังการใช้ภาษาให้ถูกต้อง”

นายวิษณุ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกระทรวงวัฒนธรรมได้ตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสม ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาติ เพื่อสร้างค่านิยมและจิตสำนึก พร้อมทั้งสิ่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้เห็นความสำคัญและรู้คุณค่าของภาษาไทย























กำลังโหลดความคิดเห็น