xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาเครื่องตรวจอาการสั่น ช่วยประเมิน “พาร์กินสัน” แม่นยำขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สวรส.ชู เครื่องตรวจวัดอาการสั่น “พาร์กินสัน” ช่วยประเมินแม่นยำขึ้น ตรวจเสร็จภายใน 10 นาที ปลอดภัย ใช้ร่วมประเมินอาการทางคลินิกและแบบประเมิน UPDRS จดสิทธิบัตรแล้วในงานประชุม 100 ปี การสาธารณสุขไทย

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในงานประชุมวิชาการ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค.ที่ผ่านมา สวรส.ได้นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัยทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือช่วยวินิจฉัยและติดตามรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเด็กไทย เครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนเพื่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 วัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมวุ้นว่านหางจระเข้เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ชุดตรวจพยาธิโรคเท้าช้าง ฯลฯ รวมถึงได้นำเสนอโมเดลของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาเครื่องมือช่วยวินิจฉัย คัดกรอง และติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า “พาร์กินสัน” เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชัดเจน การวินิจฉัยต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์ โดยตรวจประเมินทางคลินิกร่วมกับการใช้แบบประเมินอาการที่เรียกว่า UPDRS ซึ่งใช้ได้กับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเท่านั้น ทำให้ถูกจำกัดใช้อยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งยังพบว่า มีความคลาดเคลื่อนจากการให้คะแนนที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมิน ทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ แสดงผลสัญญาณในเชิงเวลา ความถี่การสั่น และค่าการสั่นในแกนต่างๆ ได้ชัดเจน ทำให้ใช้งานง่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไปที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ใช้เวลาการตรวจเสร็จภายใน 10 นาที มีความปลอดภัย ถ่ายโอนผลข้อมูลจากการวัดไปยังระบบจัดเก็บได้ง่าย สำหรับผลทดสอบเครื่องมือพบว่า ประเมินลักษณะอาการสั่นได้แม่นยำ ช่วยแพทย์ประเมินว่า อาการสั่นมีความเป็นไปได้ของโรคพาร์กินสันมากน้อยเท่าไร และใช้ประเมินอาการทางการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับแบบประเมินมาตรฐาน UPDRS ได้อีกด้วย ช่วยลดความคลาดเคลื่อนของการให้คะแนน โดยการตรวจวัดให้ผลถูกต้อง รวดเร็ว วินิจฉัยมีความแม่นยำขึ้น ไม่หลงทางในการรักษา โดยจดสิทธิบัตรในชื่อ ระบบคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากอาการสั่น

ศ.ดร.รวี เถียรไพศาล เครือข่ายนักวิจัย สวรส. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หัวหน้าโครงการวิจัยประเมินผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุเด็กเล็ก กล่าวว่า ปัญหาการมีฟันผุตั้งแต่วัยเด็กทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุและมีผลต่อเนื่องถึงฟันแท้ กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นการต่อยอดการศึกษา ติดตามผลของนมผงโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 ป้องกันฟันผุในกลุ่มเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟันผุ หรือมีฟันผุเริ่มแรก โดยหาความถี่และระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับนมผสมโพรไบโอติกเพื่อป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาพบว่า การได้รับนมผงโพรไบโอติกมีผลในการป้องกันฟันผุเริ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้นมโพรไบโอติก แบบต่อเนื่อง และกลุ่มที่ได้รับ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราในการเกิดฟันผุใหม่และฟันผุลุกลามที่เคลือบฟันน้อยกว่ากลุ่มที่ได้นมไม่มีโพรไบโอติก ซึ่งการชะลอการเกิดฟันผุใหม่และการยับยั้งฟันผุลุกลาม ทำให้ฟันผุเริ่มแรกเปลี่ยนไปเป็นฟันปกติได้ ดังนั้น การได้รับนมโพรไบโอติกเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ มีความเพียงพอในการป้องกันฟันผุได้ ปัจจุบันโพรไบโอติกชนิด Lactobacillus paracasei SD1 ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันฟันผุได้ และมีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 แก่ บริษัท เกร็ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด และอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี Lactobacillus rhamnosus SD11 แก่ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เพื่อผลิตขายภายในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น