ประกันสังคม เผย ปี 60 อายัดทรัพย์สินสถานประกอบการค้างชำระเงินสมทบ 413 ราย ติดตามหนี้ชำระเงินสมทบคืนได้ 45 ล้านบาท ชี้ นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง โดยคิดเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน เผยส่วนใหญ่หักเงินสมทบแล้วไม่นำส่ง
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการดำเนินงานติดตามกรณีนายจ้างติดค้างชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ส่วนใหญ่เหตุเกิดจากนายจ้างหักเงินสมทบในส่วนของ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน แต่ไม่ยอมนำส่งสำนักงานประกันสังคม เมื่อลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไปขอรับประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม กลับไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ได้มีแนวทางมาตรการดำเนินการกับนายจ้างที่ติดค้างชำระหนี้ ตามขั้นตอน คือ แจ้งเตือนและเชิญพบกรณีนายจ้างมาพบจะได้รับหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน หากผิดนัดไม่ชำระจะดำเนินการกับบุคคลหรือหลักทรัพย์ทันที
นพ.สุรเดช กล่าวว่า หากในกรณีนายจ้างไม่มาพบตามหนังสือเชิญ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ จะจัดส่งรายชื่อนายจ้างชำระหนี้และประวัติไม่ดีให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวังและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกัน ในกรณีที่นายจ้างต้องการความช่วยเหลือทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ทางสำนักงานประกันสังคมจะจัดส่งคณะทำงานเข้าช่วยเหลือ สำหรับนายจ้างที่มีเจตนาไม่ชำระเงิน หรือไม่ใส่ใจในข้อกฎหมายใดๆ เลยจะใช้มาตรการดำเนินการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน และหากมีมูลหนี้สูงจะทำการฟ้องล้มละลาย สำหรับนายจ้างที่ปิดกิจการไปแล้ว สำนักงานประกันสังคมก็มีมาตรการเร่งติดตามนายจ้างเพื่อจะดำเนินการเช่นเดียวกับสถานประกอบการสถานะยังดำเนินกิจการอยู่เช่นกัน
นพ.สุรเดช กล่าวว่า ในปี 2560 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม) สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของสถานประกอบการที่ค้างชำระกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน โดยอายัดทรัพย์สินจำนวน 413 ราย ถอนยึดอายัดทรัพย์ 113 ราย ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 125 ราย แบ่งเป็น กรณีพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 122 ราย กรณีฟื้นฟูกิจการ 3 ราย มีจำนวนหนี้ที่สำนักงานประกันสังคมติดตามมาได้ทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน รวมเป็นจำนวนเงิน 45,316,280.04 ล้านบาท จึงขอฝากนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม อย่าปิดบังซ่อนเร้น ไม่ยอมจ่ายเงินสมทบให้ลูกจ้าง หากสำนักงานประกันสังคมตรวจพบ นายจ้างจะต้องจ่ายทั้งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่ง หรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และถูกดำเนินคดีทางกฎหมายยังส่งผลกระทบต่อ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพราะอาจขอรับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขในการเกิดสิทธิประโยชน์ ในแต่ละกรณีล่าช้า อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไปยัง ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน หรือผู้ที่พบเห็นการกระทำดังกล่าว แจ้งข้อมูลเบาะแส ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก