รองเลขาฯ กสม. รับห่วงกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าใจผิด แห่ใช้สิทธิบัตรทองขอผ่าตัดแปลงเพศ ยันคุ้มครองเฉพาะบุคคลเพศกำกวม ที่ต้องการรักษา-ผ่าตัดให้ได้เพศตามที่ต้องการเท่านั้น
วันนี้ (13 ก.ค.) นายโสพล จริงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงกรณี กสม.ยุติตรวจสอบหน่วยงานรัฐหลังได้รับคำยืนยันจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า บุคคลที่มีเพศกำกวมสามารถใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ในการให้แพทย์วินิจฉัยยืนยันเพศและผ่าตัดเป็นเพศตามที่ต้องการได้ ว่า เรื่องดังกล่าว กสม.ได้รับการร้องเรียนจากบุคคลซึ่งใช้คำนำหน้า “นาย” และต้องการที่จะไปขอเปลี่ยนคำนำหน้า แต่ทางกรมการปกครองไม่ดำเนินการให้ ซึ่งการจะเปลี่ยนจะต้องมีใบยืนยันจากแพทย์ก่อน ทาง กสม.จึงได้ประสานไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งก็ได้แจ้งว่ายินดีจะตรวจวินิจฉัยให้ และ กสม.ยังเห็นว่าผู้ที่มีเพศกำกวมที่เกิดโดยสภาพร่างกายมี 2 เพศ จำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล และควรได้รับสิทธิเข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงประสานไปยัง สปสช.ก็ยืนยันกลับมาว่า สามารถใช้ระบบบัตรทองในการดำเนินการให้แพทย์วินิจฉัยยืนยันเพศและผ่าตัดให้ได้เพศตามที่เจ้าตัวต้องการได้ แต่กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศและบุคคลข้ามเพศนั้น ทาง สปสช.อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ สปสช. ว่าจะให้ขอบเขตแค่ไหน ซึ่งอาจมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น อาจต้องจ่ายเงินสมทบบางส่วนเพิ่ม
“ดังนั้น บุคคลที่มีเพศกำกวมในขณะนี้และต้องการรับการรักษา ซึ่งคิดว่ามีไม่มาก เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา กสม. ก็พึ่งจะได้รับการร้องเรียนเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น คนกลุ่มนี้สามารถไปขอใช้สิทธิรักษาในระบบหลักประกันได้ทันที หรือโรงพยาบาลที่มีบุคคลเพศกำกวมไปขอรับการบริการ หากไม่แน่ใจก็สามารถติดต่อขอข้อมูลไปยัง สปสช.ได้เลย แต่ก็ห่วงว่ากรณีนี้อาจจะทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสับสน ว่า การใช้สิทธิดังกล่าวครอบคลุมถึงกลุ่มตนเอง และแห่กันไปขอใช้สิทธิบัตรทองเพื่อผ่าตัดแปลงเพศกับโรงพยาบาล ยืนยันว่า กรณีนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของ สปสช.อยู่ ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง แต่บุคคลที่มีเพศกำกวมสามารถใช้สิทธิได้ทันที”