“ปานเทพ” แนะ เลี่ยงอาหารไขมันทรานส์ด้วยตัวเอง ช่วง 180 วันก่อนประกาศ สธ.ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย มีผลบังคับใช้ เผย อาหารเสี่ยงไขมันทรานส์ เช่น ขนม เบเกอรี่แทบทุกชนิด รวมถึงนมข้นหวาน นมผง ครีมเทียม ข้าวโพดคั่ว ต้องอ่านฉลากให้ดี และที่น่ากลัวกว่า คือ อาหารที่เราไม่มีโอกาสอ่านฉลาก เช่น โดนัท เบเกอรี่ ซาลาเปา ครีมเทียมในเครื่องดื่มร้านกาแฟหรือชา
ภายหลังจากราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 180 วัน ล่าสุด วันนี้ (15 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในที่สุด ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย “ไขมันทรานส์” มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน ชี้ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ว่า เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
เรื่องนี้ผมเองได้พยายามเผยแพร่รณรงค์ให้คนเลิกไขมันทรานส์มาหลายปี แต่การยกเลิกจากภาครัฐก็เป็นไปอย่างล่าช้ามาก
แม้จะยกเลิกแล้วแต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ก็อีก 180 วันข้างหน้า เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัว ซึ่งในระหว่าง 180 วันนี้ทุกท่านก็ควรจะต้องดูแลตัวเองงดไขมันทรานส์ทุกชนิด
ไขมันทรานส์ คือ ไขมันที่เติมไฮโดรเจนเข้าไปใน “ไขมันไม่อิ่มตัว” เพื่อเลียนแบบไขมันอิ่มตัว ทำให้ถนอมอาหารได้นาน และราคาไม่แพงเพราะด้วยเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันทรานส์ที่ทำจากถั่วเหลืองและข้าวโพดมีราคาถูกไปด้วย
การเติมไฮโดรเจนเข้าไปในสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัว ทำให้ไขมันที่เป็นของเหลวกลายเป็นสภาพเป็นกึ่งแข็งกึ่งเหลว (เหนียว) ซึ่งในยามที่ผลประโยชน์ของกลุ่มถั่วเหลืองและข้าวโพดในสหรัฐอเมริกาเข้าโจมตีไขมันอิ่มตัว (เนย ชีส น้ำมันมะพร้าว) นั้น ก็ได้ผลิตไขมันทรานส์ในรูปแบบของ “มาการีน” หรือเนยเทียมขึ้นมา เพื่อให้ประชากรทั้วโลกมาบริโภคแทนเนยและชีส และบางส่วนมีการเติมในน้ำมันพืชที่ไม่อิ่มตัวเพื่อทำให้หืนยากขึ้น (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ดอกทานตะวัน และรำข้าว) ผลปรากฏว่าคนอเมริกันกลับป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสูงเพิ่มมากขึ้น
การเติมไฮโดรเจนในไขมันไม่อิ่มตัวบางส่วน ทำให้โครงสร้างไขมัน “บิดตัว” และหลายปีที่ผ่านมานี้ข้อมูลงานวิจัยทั่วโลกต่างมีข้อสรุปตรงกันว่าโครงสร้างไขมันที่ผิดสภาพธรรมชาตินี้ ทำให้อัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มสูงขึ้น
ทุกวันนี้กลุ่มธุรกิจไขมันทรานส์ก็พยายามแก้ไขดัดทำให้ไขมันไม่อิ่มตัว เลียนแบบไขมันอิ่มตัวแบบ 100% โดยไม่มีการบิดตัวของโครงสร้างไขมัน ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลดีหรือเสียอย่างไรในอีกกี่ปีข้างหน้า
แต่อย่างน้อยความเข้าใจในเรื่องนี้ของประชาชนมากขึ้น ก็อาจทำให้หลายคนหันไปบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่น มะพร้าวเนย ชีส มากขึ้น ไปโดยปริยาย และอาจจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้หันมาฟื้นฟูและพัฒนามะพร้าวไทยให้ดีขึ้น
ในระหว่าง 180 วันนี้ทุกท่านจึงควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ที่มีอยู้ในอาหารทุกชนิดไปก่อน !!!
กลุ่มอาหารในบรรจุภัณฑ์ ให้ “อ่านฉลาก” ว่าต้องไม่มีชื่อเหล่านี้ที่อาจมีความเสี่ยงเป็นไขมันทรานส์ได้ เช่น ไขมันทรานส์ ,ไขมันไฮโดรจีเนต, เนยเทียม, มาการีน, ชอตเทนนิ่ง, เนยขาว ฯลฯ
แต่กลุ่มอาหารที่ต้องระวังความเสี่ยงเช่นกัน คือ กลุ่ม “ไขมันไม่อิ่มตัว” (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ดอกทานตะวัน รำข้าว) ถ้าผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขนมกรุบกรอบ และเบเกอรี่เกือบทุกชนิด เพราะการถนอมผลิตภัณฑ์อาหารที่ผสมไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านี้ มีโอกาสที่จะเติมไฮโดรเจนกลายเป็นไขมันทรานส์ผสมอยู่ด้วย
แม้แต่เนยก้อน ก็ให้ดูฉลากให้ดี เพราะฉลากจะเล็กมากจนมองไม่เห็น (ให้ใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปแล้วขยายออกมา) บางยี่ห้องเป็น “เนยผสมไขมันพืช” เพื่อลดต้นทุน ให้รู้เลยว่าน้ำมันพืชแท้ที่จริงไม่ควรเป็นก้อนแข็งเหมือนเนย ยกเว้นระบุว่าเป็นน้ำมันมะพร้าว ลักษณะไขมันพืชในเนยดังกล่าวก็มีความเสี่ยงจะเป็นไขมันทรานส์ในรูปแบบของมาการีนผสมเนยด้วย
รวมถึงเนยถั่วเกือบทั้งหมด (ซึ่งมีไขมันไม่อื่มตัวในถั่วสูงมาก) ก็เป็นไขมันทรานส์ด้วย
อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่พบบ่อยว่ามีไขมันทรานส์ ได้แก่ ขนม เบเกอรี่ แทบทุกชนิด รวมถึงที่ต้องอ่านฉลากให้ดีคือ นมข้นหวาน นมผง ครีมเทียม ข้าวโพดคั่ว ถ้าไม่แน่ใจหรือสงสัยก็ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน ฯลฯ
แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ อาหารตามร้านอาหาร ที่เราไม่มีโอกาสอ่านฉลากเลย เช่น โดนัท เบเกอรี่ ซาลาเปา ข้าวโพดคั่ว ครีมเทียมในเครื่องดื่มร้านกาแฟหรือชา อาหารจำนวนมากในกลุ่มนี้ก็มีไขมันทรานส์ด้วย
ความจริงนอกเหนือจากไขมันทรานส์ที่เป็นปัญหาต่อหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังมีอาหารชนิดอื่นที่จะสร้างปัญหาให้กับหลอดเลือดหัวใจได้อีก ได้แก่ น้ำมัดผัดทอดซ้ำด้วยความร้อนสูง (มีทั้งในร้านอาหารข้างทาง และร้านแฟรนไชส์ชื่อดัง) การใช้ไขมันไม่อิ่มตัวมาผัดทอดด้วยความร้อนสูง (ถั่วเหลือง ข้าวโพด ดอกทานตะวัน รำข้าว น้ำมันมะกอก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาล และเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล (โดยเฉพาะชาเขียว น้ำผลไม้ น้ำอัดลม) สร้างปัญหาให้กับหลอดเลือดหัวใจอย่างมากเช่นกัน แต่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐแต่อย่างใด
ชีวิตทุกวันนี้อยู่ยากนัก ดังนั้น ในระหว่างที่รอกฎหมายบังคับห้ามนำเข้าหรือผลิตไขมันทรานส์ใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนควรจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอาหารทั้งปวงที่อาจเป็นภัยต่อหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดด้วยตนเอง