xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาบอกความจริง “ทีมหมูป่า” หลั่งน้ำตา “จ่าแซม” เสียชีวิต ร่วมไว้อาลัย ขอเป็นคนดี จิตแพทย์ดูแลใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ญาติแจ้งทีมหมูป่า เหตุการณ์ “จ่าแซม” เสียชีวิต หลังร่างกายจิตใจแข็งแรง ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ ทุกคนร้องไห้เสียใจ ยืนไว้อาลัย และร่วมกันเขียนแสดงความรู้สึกขอบคุณบนภาพวาด สัญญาจะเป็นคนดี

วันนี้ (15 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงอาการของนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี หลังช่วยออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ว่า ทุกคนมีสภาพร่างกายดีขึ้นตามลำดับ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อโรคติดต่ออุบัติใหม่ ทีมแพทย์ได้มีการปรับห้องให้มีความเหมาะสม พร้อมให้ญาติเข้าเยี่ยมดูแลใกล้ชิด อาการล่าสุดเช้าวันที่ 15 ก.ค. กลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2561 อาการทั่วไปปกติ ไม่มีไข้ รับประทานอาหารได้ปกติ สำหรับ 2 รายที่มีปัญหาปอดติดเชื้ออาการดีขึ้น ให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วันแล้ว

กลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2561 อาการโดยรวมดี สัญญาณชีพปกติ ไม่มีไข้ รับประทานอาหารได้ปกติ รอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน
กลุ่มที่ 3 จำนวน 5 คน เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 อาการทั่วไปปกติ ไม่มีไข้แล้ว รายที่มีอาการหูอื้อดีขึ้น รอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับการดูแลด้านจิตใจ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. แพทย์พิจารณาแล้วว่า สภาพร่างกายของน้องๆ นักฟุตบอลและโค้ชแข็งแรงขึ้น สภาพจิตใจดีขึ้น จึงได้ตัดสินใจให้ญาติแจ้งข่าวการเสียชีวิตของ นาวาตรี สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยจู่โจมทำลายใต้ ที่อาสามาช่วยเหลือทีมหมูป่า โดยเป็นการบอกภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ซึ่งทุกคนร้องไห้ และแสดงความเสียใจ โดยเขียนความรู้สึกลงบนภาพวาดของ นาวาตรี สมาน ร่วมกันยืนไว้อาลัย กล่าวขอบคุณและสัญญาว่าจะเป็นคนดี ซึ่ง พล.ต.วุฒิไชย อิศระ แพทย์ใหญ่กองทัพภาค 3 ได้กล่าวกับผู้ประสบภัย ในฐานะตัวแทนทหารว่า ถือเป็นภารกิจ เป็นเกียรติยศ ศักดิ์ศรี

นอกจากนี้ ทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สหวิชาชีพ ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้วางแผนการดูแลต่อเนื่อง เช่น การสื่อสารในครอบครัว การทำกลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน การประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อติดตามผลในระบบโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนมีสภาพจิตใจพร้อมที่จะกลับไปดำเนินชีวิตที่บ้าน โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ สำหรับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสื่อมวลชน ตัวน้องๆ และโค้ชทีมหมูป่า ครอบครัว โรงเรียนชุมชน และสังคม

“เข้าใจว่า ทุกคนมีความเป็นห่วงและหวังดี ไม่อยากให้มีการตำหนิหรือกล่าวโทษใคร ขอให้ใช้ช่วงเวลานี้ในการช่วยเหลือหรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เป็นช่วงเวลาที่ดีงามของคนทั้งประเทศ” นพ.เจษฎา กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น