xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สั่งสอบ รพ.ติด “ฉลากยา” ประจาน นายกสภาเภสัชฯ ชี้ เภสัชกรต้องรับผิดชอบฐานะผู้ตรวจสอบก่อนจ่ายยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด สธ.สั่งสอบข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ รพ.ประจันตคาม ติด “ฉลากยา” คล้ายประจาน “แม่คนไข้” โพสต์ด่าเจ้าหน้าที่ ด้านนายกสภาเภสัชกรรม ชี้ หากฉลากยาหลุดออกมาจริง เภสัชกรต้องรับผิดชอบ ฐานะผู้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายยาทั้งหมด

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี มีการติดฉลากยาข้างขวดยา ว่า “มารดาเด็กโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่” หลังจากแม่คนไข้ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลแล้วโพสต์ด่าลงเฟซบุ๊ก จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ว่า ตนรับทราบข่าวดังกล่าวแล้ว จึงมีคำสั่งให้ลงไปตรวจสอบดูแล้วว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาได้ เกิดจากความผิดพลาดหรือพลาดพลั้งตรงไหน จากคนของเราจริงหรือไม่ คงต้องขอเวลาในการดูข้อเท็จจริงก่อนว่า จะเข้าข่ายผิดวินัยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผอ.รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ได้ทำหนังสือขอโทษสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ ที่ระบุข้อความวงเล็บหลังชื่อผู้ป่วยว่า มารดาโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่ ก็เพื่อจะเฝ้าระวังในการให้บริการครั้งต่อไป เพื่อจะให้บริการให้ดีที่สุด ไม่มีเจตนาอื่นใด โรงพยาบาลจึงขอรับผิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะปรับปรุงบริการในครั้งต่อไปในด้านพฤติกรรมบริการและกระบวนการจ่ายยาแก่ผู้ป่วย

ด้าน ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการจ่ายยาแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ฉลากยาจะต้องระบุชื่อของผู้ป่วย ชื่อยา เลขทะเบียน วิธีในการกินหรือใช้ ส่วนที่มีรายละเอียดว่าจะต้องรับประทานมากน้อยเท่าไร เวลาไหน หรือใช้อย่างไร ก็จะมีการเรียกคนไข้มารับยา จากนั้นจะต้องมีการถามชื่อว่าตรงกันหรือไม่ แล้วจึงอธิบายว่ายาดังกล่าวมีวิธีในการใช้หรือรับประทานอย่างไร เช่น รับประทานครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ข้อควรระวังมีอะไรบ้าง เป็นต้น จากนั้นจึงถามว่าเข้าใจหรือไม่ ส่วนกระบวนการในการพิมพ์ฉลากยานั้น ที่จะต้องระบุชื่อคนไข้ ชื่อยาต่างๆ นั้น จะพิมพ์ออกมาจากเครื่องอัตโนมัติ โดยดึงจากประวัติของคนไข้

ภก.นิลสุวรรณ กล่าวว่า จากการที่โรงพยาบาลออกมายอมรับว่า เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องมาดูว่าใครเป็นคนเขียน ซึ่งในห้องยามีทั้งเภสัชกรในการควบุคมดูแล และเจ้าหน้าที่ หากเป็นเภสัชกรเป็นผู้เขียนแล้วปล่อยให้หลุดออกมา ตรงนี้ถือว่าผิดวินัยชัดเจน แต่หากเป็นผู้อื่นเขียน อย่างไรก็ตาม เภสัชกรในวันนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีฐานะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ ทั้งหมดในห้องยา โดยจะต้องมีเภสัชกรอย่างน้อย 2 คน โดยคนหนึ่งตรวจสอบทั้งชื่อยาที่แพทย์สั่งมาถูกต้องหรือไม่ ชื่อคนไข้ ชื่อยาต่างๆ ถูกต้องหรือไม่ และจะต้องมีเภสัชกรอีกคนหนึ่งที่ตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายก่อนจ่ายยาออกไปแก่ผู้ป่วย ซึ่งหากไม่ได้ตรวจสอบให้ดีก็ถือว่าเป็นความผิดของเภสัชกรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องอารมณ์ในการทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ทางวิชาชีพสุขภาพคงไม่มีใครที่จะเอาอาชีพของตัวเองมาเสี่ยงทำแบบนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น