xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.รพ.ประจันตคาม จ่อรื้อระบบเวชระเบียน ตัดวงเล็บท้ายชื่อคนไข้ หลัง “ฉลากยา” หลุดมารดาโพสต์ด่าเจ้าหน้าที่ รับไม่เหมาะ ตรวจสอบไม่รอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผอ.รพ.ประจันตคาม แจงเหตุ “ฉลากยา” คล้ายประจาน เกิดจากการพิมพ์ไว้ในเวชระเบียน เพื่อเฝ้าระวังให้บริการดีขึ้น รับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่เข้มงวด จึงปล่อยหลุดออกมาในฉลากยา จ่อรื้อระบบเวชระเบียนใหม่ เอาวงเล็บท้ายชื่อผู้ป่วยออกทั้งหมด เว้นอาการแพ้ยา โรคประจำตัวรุนแรง เผย มารดาเด็กท่าทีเข้าใจขึ้นหลัง รพ.ออกมาขอโทษ

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงความผิดพลาดในการติดฉลากยา ซึ่งปรากฏข้อความ “มารดาคนไข้โพสต์ด่าเจ้าหน้าที่” อยู่ในวงเล็บชื่อผู้ป่วย มีลักษณะคล้ายการประจาน จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงจรรยาบรรณและความไม่เหมาะสม ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นไปแล้ว เราก็ได้ทำการขอโทษมารดาของเด็ก ซึ่งจากการที่ รพ.ส่งทีมเข้าไปขอโทษและพูดคุย ท่าทีของมารดาก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนการติดตามการรักษาของผู้ป่วยเด็กคนดังกล่าว ก็พบว่า อาการดีขึ้น มีอาการหอบน้อยลง น้ำมูกลดน้อยลง และแนะนำมารดาอยู่ว่า หากยาหมดแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ให้มาดำเนินการตรวจซ้ำใหม่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจึงถือเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนที่ รพ.จะต้องมาปรับปรุงเรื่องระบบเวชระเบียนให้ดีขึ้น

นพ.พงศธร กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ซึ่งเผอิญว่าผู้รับบริการไม่ได้เขียนใบร้องเรียนขึ้นมาหา รพ.ว่า การบริการของ รพ.มีปัญหาอะไร ขณะที่เจ้าหน้าที่มีความหวังดีในการวงเล็บไว้ท้ายชื่อผู้ป่วยในระบบเวชระเบียน เพื่อระวังเฝ้าระวังในการบริการครั้งต่อไป ดังนั้น เมื่อมารับบริการอีกครั้งในครั้งที่ 2 ก็เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งยอมรับว่ามีความไม่เหมาะสม โดยปัญหาเกิดจากการตรวจสอบที่อาจจะไม่เข้มงวด จึงหลุดออกมา เพราะจริงๆ แล้ว ชื่อตามเวชระเบียนจะผ่านหลายจุด แต่จุดสุดท้ายคือห้องยา แต่พอเป็นขวดยาน้ำ ซึ่งมีความมนโค้ง ทำให้มองเห็นแค่ชื่อนามสกุล ส่วนวงเล็บมองไม่เห็น เพราะว่าไปอยู่ด้านหลังของขวด ซึ่งถ้าซองยาจะเห็นชัดเจน เพราะแปะเต็มหน้า จึงถือเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาลที่ปล่อยหลุดออกมา

“จากกรณีนี้ รพ.จะต้องมาปรับปรุงระบบเวชระเบียนทั้งหมดเลยว่า การที่มีวงเล็บข้างหลังชื่อ มีความจำเป็นหรือไม่ จำเป็นขนาดไหน ซึ่งต่อไปนี้อะไรที่ไม่เกี่ยวกับโรคประจำตัวหรืออาการผู้ป่วยที่จำเป็น จะต้องเอาออกทั้งหมด โดยอาจคงไว้เฉพาะกรณีที่จำเป็น เช่น การแพ้ยาของคนไข้ การมีโรคประจำตัวที่รุนแรง เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะไม่มีปัญหาเช่นนี้อีก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการไล่ปรับปรุงเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่มีอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าคน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่ได้เอาผิดหรือเอาโทษกับผู้ใดผู้หนึ่ง หรือเภสัชกรที่เป็นผู้ตรวจสอบคนสุดท้าย แต่เป็นเรื่องของการต้องมาปรับปรุงทั้งระบบอย่างที่กล่าว” ผอ.รพ.ประจันตคาม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น