‘หมออุดม’ระบุ ครม.ผ่านหลักการตั้งกระทรวงใหม่ แต่ให้กลับไปหาข้อสรุปชื่อกระทรวง-คาดคณะทำงานได้สรุปตั้งกระทรวงใหม่ เข้า สนช. กลางเดือนกันยายนนี้
วันนี้ (5 ก.ค.) นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตั้งกระทรวงใหม่ ที่รวมสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) และสถาบันวิจัยต่างๆ ว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติรับหลักการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ แต่ยังไม่มีข้อยุติ 2 ประเด็น คือ 1.ชื่อกระทรวง ซึ่งเสนอชื่อ กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ครอบคลุมศาสตร์วิชาการทั้งหมด ซึ่งในที่ประชุม ครม. แย้งว่า อยากให้ใส่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปในชื่อกระทรวงด้วย นอกจากนี้ มีหน่วยงานวิจัยบางแห่งไม่อยากเข้าร่วมในกระทรวงใหม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ตัดสินใจ จึงให้คณะทำงานหารือกันนอกรอบ 2. ให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อหาข้อสรุปที่ยังตกลงกันไม่ได้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วเสนอ ครม. อีกครั้งหนึ่ง
“ผมคิดว่าชื่อกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เป็นชื่อที่ครอบคลุมและมีจุดเน้น คือ มีนวัตกรรมที่เป็นหน้าที่หลักของอุดมศึกษา ส่วนเรื่องอุดมศึกษา ลงตัวแล้วมี พ.ร.บ. การอุดมศึกษา แล้ว ส่วนเรื่องวิจัยและนวัตกรรม ที่ยังไม่ลงตัว ถกเถียงกัน คือ หน่วยงานที่อยู่ใน วท. และ หน่วยงานวิจัยที่อยู่นอก วท. โดยในที่ประชุม ครม. มี 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1. นำ วท. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมอยู่ภายใต้กระทรวงใหม่ โดยต้องแยกภารกิจ วัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน และแนวทางที่ 2 คือ นำหน่วยงานที่ให้ทุนวิจัย อยู่นอกกระทรวงใหม่ จะได้ไม่มีความทับซ้อนในการทำงาน แต่ถ้าแยกออกมาต่างหากจะทำให้ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เบื้องต้น ให้ สวก. และ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (สวนช.) ออกมาอยู่นอกกระทรวงใหม่ เพราะ สวนช. ควรจะดูนโยบาย ยุทธศาสตร์และวิจัยทั้งประเทศจุดนี้ไม่ได้ครอบคลุม แค่กระทรวงใหม่อย่างเดียว ที่ทำการวิจัย มีทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำงานวิจัยและผลิตนวัตกรรมเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะทั้งสองแนวทางมีทั้งข้อดีข้อเสียต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุปนั้นจะต้องหาข้อสรุปให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายนนี้” นพ.อุดม กล่าว
นพ.อุดม กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการทำงานกระทรวงใหม่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนอุดมศึกษา ซึ่งกำกับโดย พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ส่วนวิจัยและนวัตกรรม กำกับโดย พ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม ให้มีคณะกรมการส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรม ที่เข้ามาดูแล ส่วน วท. แม้จะนำมารวมกับกระทรวงใหม่ ยังมีอีก 2 หน่วยงานที่อยู่ในสังกัด คือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เบื้องต้นวางแผนให้เป็นองค์การมหาชนภายใน 3 ปี และสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ เบื้องต้นคาดว่าให้ย้ายไปสังกัดกระทรวงพลังงาน และจะมีการตั้งหน่วยงานเพื่อขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ สำนักงานส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ช่วงแรกวางแผนว่าให้เป็นส่วนราชการไว้ก่อน และภายใน 3 ปี จะให้เป็นองค์การมหาชน
“ภาพรวมกระทรวงใหม่นั้น ครม. อนุมัติในหลักการแล้ว คาดว่า กลางเดือนกันยายน จะเข้าสภานิติบัญติแห่งชาติ (สนช.) ได้ ถ้าล่าช้าไปกว่านี้เกรงว่าไม่ทันเวลา” นพ.อุดม กล่าว