“กอบศักดิ์” เผยข้อสรุป กขร. เสนอแก้กฎหมาย ระเบียบ เปิดช่อง อปท.จ้างนักบริบาลชุมชนดูแล “ผู้สูงอายุติดเตียง” คาดใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ยกระดับคุณภาพชีวิตคนแก่ทั่วประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2561 ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 2 แสนราย และมีผู้ป่วยติดบ้านที่ในอนาคตจะพัฒนามาเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีกกว่า 3 แสนราย ทั้งนี้ รัฐบาลมองว่า ผู้สูงอายุทุกคนในประเทศไทยควรจะมีคนดูแล จึงได้ร่วมกันหารือถึงการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมในการสร้างนักบริบาลทั่วประเทศไทยเข้าไปดูแลประชาชนตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีระเบียบรองรับ นโยบายดังกล่าวลงทุนไม่มาก เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสวัสดิการ และนำไปสู่การเกิดการจ้างงานในชุมชน ส่งผลให้แต่ละครอบครัวคลายกังวลและมีประสิทธิภาพในการทำงานได้ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความคุ้มค่า คาดว่า ในวันที่ 5 ก.ค. นี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา และจะมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 1-2 เดือน ส่วนงบประมาณคาดว่าในปีแรกจะใช้ 2,000 ล้านบาท โดยในระยะยาวจะผ่องถ่ายจาก สปสช.ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลหลักต่อไป
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงต้นของโครงการ โดยให้หาแนวทางการจัดบริการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดบ้านและติดเตียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราได้ดำเนินโครงการไปบางส่วนแล้ว ในวันนี้ที่รัฐบาลพิจารณาคือการนำโครงการที่ สปสช.ได้ทำร่วมกับ อปท.มาดูว่าการดำเนินงานมีข้อติดขัดอะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้ข้อติดขัดเหล่านั้นก็ได้ทางออกแล้ว
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี กล่าวว่า ที่ อ.ลำสนธิ ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ประกอบกับความเป็นชนบท ความยากจน ขณะที่คนหนุ่มสาวเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะอาศัยและดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้สูงอายุดูแลกันเองไม่ไหว บางรายไม่ได้อาบน้ำหลายวัน บางรายรับประทานอาหารไม่ไหว สภาพดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นทุกข์ที่เกินทุกข์ นั่นจึงนำมาสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา โดยทางโรงพยาบาลลำสนธิได้ส่งพยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด เข้าไปดูแลถึงบ้าน ซึ่งภาพรวมของกระบวนการดูแลเป็นไปอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม อีกกระบวนหนึ่งที่ดีมากๆ คือ ทางท้องถิ่นได้ช่วยจัดจ้างนักบริบาลชุมชนเพื่อเข้าไปช่วยดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ด้วย แต่ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีกลไกการตรวจสอบเข้ามาแล้ว ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีระเบียบหรือข้อกำหนดรองรับ นั่นทำให้โรงพยาบาลลำสนธิทำงานยากลำบากขึ้น ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นนิมิตรหมายทีดีที่จะช่วยปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านั้นออกไป” นพ.สันติ กล่าวและว่า ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ต้องอาบน้ำทุกวัน ต้องรับประทานอาหารสามมื้อ การลงไปดูแลจึงเป็นงานที่หนัก เราจึงเกิดกระบวนการนักบริบาลชุมชนขึ้นมา เพื่อเข้าไปอาบน้ำ สระผม ป้อนข้าว คือ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นอย่างดี ผลก็คือทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นนโยบายเร่งด่วน และจะปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ผมคิดว่าถ้าปลดล็อกแล้วไม่เพียงแต่โรงพยาบาลลำสนธิจะดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างเข้มข้นต่อไป แต่โรงพยาบาลอื่นๆ จะสามารถดำเนินการได้ด้วย
น.ส.จำเริญ ต่อโชติ นักบริบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กุดตาเพชร จ.ลพบุรี กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่ไม่มีคนดูแล คืออยู่กับบุตรหลานที่ทำงานนอกบ้าน ในสมัยที่ยังไม่มีนักบริบาลเข้าไปดูแลพบว่าคุณภาพชีวิตแย่มาก จานข้าวที่บุตรหลานเตรียมไว้ก่อนออกไปทำงานก็เต็มไปด้วยมด ผู้สูงอายุนอนแช่อุจจาระตั้งแต่เช้าถึงเย็น ภาพแบบนี้ชุมชนเมืองอาจจะไม่เจอ แต่ในต่างจังหวัด หรือชุมชนชนบทจะพบมาก ผู้สูงอายุเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือจากเรามากๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แพมเพิด การดูแลต่างๆ นานา เราดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วย ส่วนตัวอยากให้มีนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยทุกวันนี้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ค่าจ้างเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนมาจ้างนักบริบาลไปดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ โดยเสนอเงินเดือนให้ 20,000 บาท แต่นักบริบาลก็ไม่ไป ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับชุมชน ยืนยันว่า ทุกอย่างที่ทำไปนั้นทุกคนทำด้วยใจ เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง